ศูนย์หัวใจกรุงเทพหัวหิน ภายใต้การบริหารงานโดย โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ มีคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคหัวใจ เพื่อให้บริการตรวจ วินิจฉัย และการทำหัตถการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ในบรรยากาศและสถานที่ที่เหมาะสม พร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในระดับมาตรฐานสากล ตลอดจนให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูหัวใจทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน ให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ดังนี้
- การตรวจหัวใจและหลอดเลือดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (256-slice CT Angiogram : CTA) การตรวจด้วยเครื่อง 256-slice CT Scan เพื่อดูพยาธิสภาพของหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery) โดยเฉพาะ ซึ่งมีความแม่นยำของการตรวจใกล้เคียงกับการฉีดสีผ่านสายสวนหลอดเลือด และยังได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปริมาณแคลเซียมหรือหินปูนที่เกาะตามผนังหลอดเลือดหัวใจ
- เครื่องตรวจสมรรถภาพการไหลเวียนของระบบหลอดเลือดแดง (ABI-Vascular Screening) เพื่อวินิจฉัยการอุดตันและการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง โดยใช้เครื่องมือวัดเพื่อเปรียบเทียบระดับความดันเลือดจากหลอดเลือดแดงที่ข้อเท้า เพื่อเปรียบเทียบกับความดันหลอดเลือดแดงที่แขน ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ทราบถึงภาวะของเส้นเลือด ว่ามีความผิดปกติที่อาจจะก่อให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็ง อันเป็นสาเหตุของหลอดเลือดส่วนปลายอุดตันบริเวณเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของขา และปลายเท้า ซึ่งทำให้มีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ หรือผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตนเองเพื่อป้องกันอันตรายร้ายแรงที่อาจจะเกิดตามมาได้ หากเป็นในขั้นรุนแรงอาการนี้อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจตายได้
- เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter monitor) การบันทึกสภาวะคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประเมินภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) และหาสาเหตุของอาการใจสั่น หรืออาการหน้ามืดเป็นลม
- เครื่องตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test : EST) เครื่องวัดสมรรถภาพของหัวใจ ขณะหัวใจกำลังทำงานในสภาวะต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจตีบ ซึ่งเมื่อมีการออกกำลังกาย กล้ามเนื้อหัวใจต้องการเลือดไปหล่อเลี้ยงมากขึ้น ซึ่งในบริเวณที่เส้นเลือดตีบจะไม่สามารถขยายตัวส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้เพียงพอ จึงทำให้เกิดอาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยจะแสดงอาการ อาทิ การเจ็บแน่นหน้าอก หรือเหนื่อยมากกว่าที่ควรจะเป็นตามปกติ
- การตรวจหัวใจด้วยการกลืนกล้อง (Probe) เข้าทางหลอดอาหาร (Tran esophageal echocardiogram : TEE) การตรวจหาความผิดปกติภายในหัวใจ ซึ่งวิธีนี้สามารถตรวจดูความผิดปกติของหัวใจได้ละเอียดมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่สามารถตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงชนิดธรรมดา
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiography : Echo) การตรวจอัลตราซาวน์หัวใจ โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงผ่านผนังหน้าอก เป็นการตรวจเพื่อดูขนาดของหัวใจ การบีบและคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ลักษณะทางกายภาพและการทำงานของลิ้นหัวใจ ภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ และตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการเหนื่อยหอบ และแน่นหน้าอก
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram : EKG) การตรวจกระแสไฟฟ้าในหัวใจ เป็นการตรวจคัดกรองโรคหัวใจในเบื้องต้น เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว และหัวใจโต เป็นต้น
- การตรวจหาหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ (Calcium Score CT) การตรวจหาหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ เป็นการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งได้รับรังสีในปริมาณน้อยมาก ไม่เจ็บ ไม่ต้องเตรียมตัวพิเศษ และไม่ต้องฉีดสารทึบรังสี ผู้ที่ควรได้รับการตรวจ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นโรคเบาหวาน ความดันสูง คลอเรสเตอรอลสูง หรือสูบบุหรี่
- การตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือดแดง (Coronary Artery Angiography : CAG) เป็นการตรวจโดยใช้รังสี X-ray ร่วมกับการฉีดสารทึบแสงเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจโดยตรง เพื่อแสดงให้เห็นถึงจุดและตำแหน่งของหลอดเลือดที่ตีบ รวมไปถึงความรุนแรงและจำนวนมากน้อยของการตีบ เพื่อให้แพทย์ได้ตัดสินใจเรื่องการรักษาที่เหมาะสมต่อไป เช่น การทำการขยายด้วยบอลลูน การใส่ขดลวด หรือการทำการผ่าตัดบายพาส หรือการใช้ยาที่เหมาะสม
- การรักษาหลอดเลือดหัวใจแบบไม่ผ่าตัด โดยการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดแดง และการใส่ขดลวด (Percutaneous Coronary Intervention : PCI) เป็นการรักษาโดยทำการขยายหลอดเลือดหัวใจ โดยการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือด หลังจากนั้นตามด้วยการใช้ขดลวดที่ไม่ใช่เหล็กเป็นโลหะสังเคราะห์ ใส่ขยายเพื่อรักษาสภาพของหลอดเลือดไม่ให้กลับมาตีบซ้ำและคงสภาพของหลอดเลือดที่เปิดด้วยการทำบอลลูนไว้