"ก้อนเนื้อในเต้านม"... เรื่องที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม
ปัจจุบันพบว่าผู้หญิงมีอัตราการเป็นมะเร็งเต้านม (Breast Cancer) เพิ่มสูงขึ้น โดยอาการที่พบเจอบ่อย เช่น การคลำเจอก้อนเนื้อ บริเวณเต้านมข้างใดข้างหนึ่ง หรือ ทั้งสองข้าง การมีน้ำหรือของเหลวไหลออกมาจากเต้านม ลักษณะของผิวหนังบริเวณเต้านมเปลี่ยนไป โดยไม่ได้เกิดอุบัติเหตุ รูปร่างเต้านมใหญ่ขึ้นผิดปกติ หรือมีลักษณะอักเสบบวมแดง หากมีความผิดปกติเหล่านี้แนะนำให้มาพบศัลยแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการและรับคำปรึกษาที่เหมาะสม
แพทย์หญิง ธนิตา แม็คอัลไพน์ ศัลยแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดก้อนเนื้อในเต้านม อันแรกคือ ความเสี่ยงเรื่องอายุ มักจะเกิดในวัยกลางคนอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ถ้าพบก้อนเนื้อในคนอายุน้อยมากหรือสูงอายุ ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น รองลงมาคือ กรณีคนในครอบครัว หรือญาติที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม โอกาสที่จะเกิดโรคก็จะสูงขึ้นด้วย สำหรับคนที่เคยมีประวัติได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว 1 ข้าง อีกข้างก็มีโอกาสจะเกิดขึ้นตามได้ หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป มีดัชนีมวลกายเยอะ มีไขมันในร่างกายสูง คนที่ได้รับฮอร์โมนเป็นระยะเวลานาน เช่น การใช้ยาคุมกำเนิดประเภทรับประทาน นานมากกว่า 10 ปี จะมีผลต่อระดับเอสโตรเจน (Estrogen) ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเบื้องต้น คุณผู้หญิงสามารถเช็คอาการได้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยยืนส่องกระจก และใช้สามนิ้วแตะรอบบริเวณหัวนม วนเป็นก้นหอย วนไปจนครบเนื้อนมทั้งหมด แล้วคลำเลยมาตรงรักแร้ ทำเหมือนกันทั้งสองข้าง ในบางรายพบเจอก้อนเนื้อบริเวณไหปลาร้า ก็ต้องคลำเลยมาไหปลาร้าด้วย ถ้าพบเจอสิ่งผิดปกติต่างๆ เหล่านี้ แนะนำให้เข้ามารับการตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาล เพื่อทำแมมโมแกรมพร้อมอัลตร้าซาวด์เต้านม (Mammogram and Ultrasound Breast) หากพบก้อนเนื้อก็จะมีการตัดชิ้นเนื้อไปวินิจฉัยต่อไป
ทั้งนี้เมื่อผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าพบเป็นก้อนเนื้อธรรมดาหรือถุงน้ำ ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง แพทย์จะแนะนำให้สังเกตอาการด้วยตนเอง 3 เดือน ถึง 6 เดือน แล้วมาตรวจซ้ำด้วยการอัลตราซาวด์ แต่ถ้าเมื่อใดที่ผู้ป่วยมีอาการ เช่น รู้สึกว่ามีประจำเดือนแล้วมีอาการปวดเยอะขึ้น หรือมีอาการที่รู้สึกว่ารบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ในกรณีนี้ แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัด อีกทั้งหากสงสัยว่าเป็นเนื้อร้าย จำเป็นต้องนำชิ้นเนื้อออกมาตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เมื่อทราบผลตรวจชิ้นเนื้อแล้ว ก็จะทำการผ่าตัดและรักษาตามลำดับต่อไป
“คุณผู้หญิงสามารถตรวจมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือน โดยตรวจด้วยตนเอง เดือนละ 1 ครั้ง ช่วงกลางรอบเดือน และสำหรับผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ควรทำแมมโมแกรมปีละ 1 ครั้ง กรณีที่ตรวจพบการผิดปกติ แพทย์จะมีการนัดติดตามเพื่อมาตรวจซ้ำ ซึ่งมะเร็งเต้านมถือว่าเป็นมะเร็งที่มีการพยากรณ์โรคที่ดีชนิดหนึ่ง คือผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคนี้ได้เบื้องต้นคือเป็นในระยะ 0 หรือระยะ 1 ผู้ป่วยจะสามารถมีชีวิตหลังจากวินิจฉัยได้ภายใน 5 ปี ได้ถึง 100 เปอร์เซนต์ เพราะฉะนั้นรู้เร็ว รับการรักษาเร็ว ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้” พญ. ธนิตา กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตามโรคมะเร็งเต้านมนั้น สามารถป้องกันได้โดยการควบคุมน้ำหนัก การออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และผักผลไม้ อีกทั้งควรงดสูบบุหรี่และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดหรือลดเวลาในการใช้ฮอร์โมนทดแทน หลังหมดประจำเดือน หรืองดใช้ยาคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะในผู้ป่วยมีประวัติโรคที่เกี่ยวข้องหรือมะเร็ง และเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อการป้องกันและสามารถรักษาได้ หากตรวจพบความผิดปกติโดยเร็ว
**************************************************************************
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมายพบแพทย์ กรุณาติดต่อ :
โทร. 032-616-883 (8.00 – 17.00 น.) คลินิกศัลยกรรมทั่วไป ชั้น 1
โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน
Line : @bangkokhuahin หรือ https://lin.ee/5tso2l0