เจ็บแน่นอก แบบไหน? เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
คุณเคยรู้สึกเจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เจ็บแน่นคล้ายมีอะไรมากดทับที่หน้าอกมั้ยคะ? แล้วคุณเคยสงสัยมั้ยว่าเจ็บหน้าอกแบบไหน ที่เสี่ยงจะเป็นโรคหัวใจ หรือเจ็บแค่ไหนจึงควรรีบมาโรงพยาบาล นพ. กลย์พัฒนชาญฬ์ พงศ์หัตถกิจ อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด (Interventional Cardiologist) ประจำศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน จะมาแนะนำวิธีการสังเกตอาการ และการรับมือกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหัวใจขาดเลือด ให้คุณได้ดูแลตัวเองและคนที่คุณรัก ให้มีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรง
นพ. กลย์พัฒนชาญฬ์ กล่าวว่า ภาวะเจ็บหน้าอกเฉียบพลันอาจเกิดอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคที่เกิดจากระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไปจนถึงสาเหตุที่สำคัญ คือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
3 สัญญาณอันตรายจากภาวะหัวใจขาดเลือด
- อาการเจ็บแน่นหน้าอกระหว่างราวนม ลิ้นปี่ คล้ายมีอะไรบีบรัดหรือกดทับ อาจเป็นเวลาออกแรง หรือเจ็บแบบไม่เคยเป็นมาก่อนก็ได้
- อาจเจ็บร้าวไปที่คอ กราม แขนซ้ายด้านใน
- อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหงื่อออก ตัวเย็น เวียนศีรษะ หน้ามืด เหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ ใจสั่น
- ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป
- มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
- สูบบุหรี่ เครียด ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- มีประวัติคนในสมาชิกครอบครัวที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ในรายที่เจ็บหน้าอกเรื้อรัง และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ อาจตรวจเพิ่มเติมโดยการเดินสายพาน หรือ ตรวจคลื่นสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram)
- ในรายที่เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ควรตรวจรักษาด้วยการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจทันที หรือภายใน 72 ชั่วโมง
- การให้ยาละลายลิ่มเลือด ภายใน 30 นาที หลังผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล – วิธีนี้มีโอกาสเปิดหลอดเลือดได้ 50 – 70 %
- การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน ภายใน 90 นาที หลังผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล – วิธีนี้มีโอกาสเปิดหลอดเลือดได้สูง 90 – 99 %
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือที่รู้จักกันว่า “การทำบายพาส” – จะทำได้หลังจากฉีดสีหลอดเลือดก่อน ถ้าพบว่าตีบหลายเส้น และไม่ได้ตันเฉียบพลัน จึงจะเป็นทางเลือกในการรักษา
- การสวนหัวใจและฉีดสี Coronary Artery Angiography (CAG) คือวิธีการตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจที่มีความแม่นยำสูงและมีความปลอดภัย โดยแพทย์ผู้ทำการตรวจจะฉีดสารทึบแสงเข้าหลอดเลือดแดง ที่บริเวณขาหนีบหรือข้อมือ และสอดใส่สายสวนหลอดเลือดหัวใจ ฉีดสารทึบรังสีเข้าในหลอดเลือดหัวใจทีละเส้นและบันทึกภาพด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ ในท่าต่าง ๆ ผลที่ได้คือภาพการเคลื่อนไหวของหัวใจและการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งจะสามารถทำให้แพทย์ทราบถึงจุดผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ
- การขยายหลอดเลือดหัวใจ โดยการใช้บอลลูนและการใส่ขดลวด Percutaneous Coronary Intervention (PCI) โดยหลังจากที่แพทย์ฉีดสีดูความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจแล้วพบความผิดปกติการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจ แพทย์จะพิจารณาในการทำการขยายหลอดเลือดหัวใจ โดยการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนผ่านหลอดเลือดแดง ร่วมกับการดามด้วยขดลวด เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้อีกครั้งหนึ่ง หลังการขยายหลอดเลือดผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น สามารถกลับไปทำงานได้ดีกว่าเดิม คุณภาพชีวิตโดยรวมจะดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตครอบครัวและสังคมภายนอกอย่างมีความสุขมากขึ้น