อย่าให้อาการหลงลืม เป็นจุดเริ่มต้นของ “การสูญเสียความทรงจำ”
โรคสมองเสื่อม (Dementia) เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุทั่วโลก ประมาณร้อยละ 90 พบในอายุ 60-65 ปี และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยมีอาการเริ่มต้นจากการมีภาวะความจำถดถอยเล็กน้อย และใช้เวลานาน 4-5 ปี กว่าจะทราบว่าผู้ป่วยเกิดภาวะสมองเสื่อม มีผลกระทบทำให้มีปัญหาด้านความจำผิดปกติ หลงลืม ถามซ้ำๆ จำเหตุการณ์ไม่ได้ มีอารมณ์หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ และอาจทำให้มีความผิดปกติในการใช้ภาษา การคำนวณ ความคิด ความเข้าใจ อย่างไรก็ตามภาวะสมองถดถอยไม่ได้เกิดแต่ในผู้สูงอายุเท่านั้น ในผู้ที่อายุน้อยก็อาจเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน เรียกว่า ภาวะสมองเสื่อมก่อนวัย ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากโรคทางพันธุกรรม โรคสมองเสื่อมฟรอนโตเทมพอรัล (Frontotemporal Dementia) หรือภาวะอื่นๆ เช่น โรคการติดเชื้อของสมอง การได้รับสารพิษต่างๆ หรือจากโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
โดย แพทย์หญิงอินทิพร เมธาสิทธิ์ แพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทและสมอง ผู้เชี่ยวชาญโรคสมองเสื่อม (Behavioral Neurology) โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า “ผู้ป่วยที่เริ่มมีภาวะความจำถดถอย อาจจะมีอาการหลงลืมเพียงเล็กน้อยแต่จะยังไม่มีความผิดปกติในการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน จึงมีความสำคัญที่ผู้ป่วยเหล่านี้ควรได้รับการวินิจฉัยโรคนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะการสืบหาสาเหตุ และให้การรักษาด้วยยา ช่วยชะลอการดำเนินโรคหรืออาจจะป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมตามมาได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งผู้ดูแลผู้ป่วยมีความเข้าใจโรคได้ดีขึ้น มีการดูแลอย่างองค์รวมและเน้นการฝึกพัฒนาสมอง (Cognitive Training) ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษามากกว่าการรักษาในขณะที่มีอาการของภาวะสมองเสื่อมรุนแรงแล้ว”
สาเหตุของสมองเสื่อม ที่พบบ่อยมี 2 ชนิด ได้แก่
- โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุดของภาวะสมองเสื่อม เกิดจากการเสื่อมสภาพของเซลล์สมอง และไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
- โรคหลอดเลือดสมอง (Vascular Dementia) พบบ่อยเป็นอันดับที่สองของอาการสมองเสื่อม จะเกิดจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยง ทั้งจากชนิดหลอดเลือดแตก ตีบ หรืออุดตัน ทำให้สมองส่วนนั้นมีความผิดปกติ สาเหตุหลักของโรคนี้ คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง และการสูบบุหรี่