โรคไข้เลือดออก เป็นแล้ว เป็นซ้ำ ป้องกันได้ไหม?
โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อโดยมีสาเหตุมาจากยุงลาย Aedes Aegypti ตัวเมียกัด เมื่อยุงกัดคนที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกโดยเฉพาะช่วงที่มีไข้สูง เชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) จะเพิ่มจำนวนในตัวยุงประมาณ 8 – 10 วัน เชื้อไวรัสเดงกีจะไปที่ผนังกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุง พร้อมที่จะติดต่อไปยังคนอื่น แล้วนำเชื้อไวรัสมาแพร่ให้กับคนอื่น ซึ่งโรคนี้สามารถเกิดได้ในทุกเพศ ทุกวัย ส่วนใหญ่พบในเด็ก มักจะระบาดในฤดูฝน แต่ปัจจุบันสามารถพบได้ตลอดทั้งปี
นพ.ศิริชัย แสงงามมงคล อายุรแพทย์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ แพทย์เวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการไข้หลังจากถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด ระยะฟักตัว (incubation period) ประมาณ 3 – 14 วัน ระยะเริ่มมีอาการ 4 – 7 วันหลังถูกกัด โดยมีไข้สูงได้ถึง 39 – 40 องศาเซลเซียส ประมาณ 2 – 7 วัน มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ถ่ายดำ ตับโตกดเจ็บชายโครงด้านขวา สามารถพบอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก และคัดจมูก
สัญญาณอันตรายของโรคไข้เลือดออกที่ควรระวัง ได้แก่ มีอาการซึม อ่อนเพลียมาก กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาและเร็ว ปวดท้องกะทันหัน กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อยลง มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด และอุจจาระเป็นสีดำ
วิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยเบื้องต้น คือ เมื่อมีไข้สูงให้เช็ดตัวช่วยลดไข้เป็นระยะ และให้ยาลดไข้พาราเซตามอล แต่ไม่ควรทานบ่อยจนเกินไป เนื่องจากพบตับอักเสบได้บ่อยในไข้เลือดออก ห้ามใช้แอสไพรินหรือไอบรูโปรเฟน เนื่องจากสามารถพบเกล็ดเลือดต่ำในโรคไข้เลือดออกและอาจทำให้มีเลือดออกได้ ให้ดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ เนื่องจากผู้ป่วยไข้เลือดออกมักมีภาวะขาดน้ำ ให้อาหารอ่อน งดอาหารที่มีสีคล้ายเลือด สีดำแดง และรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก (Dengue Vaccine) ซึ่งได้ผลดีในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 9 – 45 ปี และมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อน จึงสามารถรับวัคซีนได้ ซึ่งเชื้อไวรัสเดงกีที่ทำให้เกิดไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ ในประเทศไทยถือว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่น มีครบทุกสายพันธุ์ หากติดเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานสำหรับสายพันธุ์นั้นได้ตลอดชีวิต แต่ป้องกันสายพันธุ์อื่นได้ไม่เกิน 1 ปี ดังนั้นคนคนหนึ่งหากเคยเป็นโรคไข้เลือดออกแล้ว จะยังสามารถเป็นซ้ำ คือติดเชื้อสายพันธุ์ที่เหลือได้ และจากการศึกษาพบว่า การติดเชื้อซ้ำหรือการติดเชื้อครั้งที่สองมักเกิดอาการที่รุนแรงมากกว่าการติดเชื้อครั้งแรกได้ถึงร้อยละ 80 – 90
“สำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน ท่านสามารถรับวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกนี้ได้ โดยฉีดวัคซีนจำนวน 3 เข็ม ห่างกันเข็มละ 6 เดือน จะช่วยป้องกันไวรัสเดงกี ทั้ง 4 สายพันธุ์ ซึ่งสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ถึงร้อยละ 65.6 ลดความรุนแรงของโรคได้ร้อยละ 93.2 และลดอัตราการนอนโรงพยาบาล ทั้งนี้วัคซีนนี้มีผลข้างเคียงน้อย โดยอาจมีการปวดเล็กน้อยบริเวณที่ฉีดวัคซีน อาจปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หรือมีไข้ในบางราย” นพ.ศิริชัย กล่าว
ปัจจุบันการรักษาโรคไข้เลือดออกเป็นเพียงการรักษาตามอาการ อีกทั้งหากมีอาการรุนแรง สามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ “การป้องกัน” ไม่ให้เป็นโรคไข้เลือดออก สิ่งสำคัญคือการป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยเฉพาะในเวลากลางวัน และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยปิดฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ หรือปลากินลูกน้ำในภาชนะเก็บน้ำที่ปิดฝาไม่ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมาวางไข่ และเก็บทำลายหรือคว่ำภาชนะที่มีน้ำขังหรือไม่ใช้แล้ว
**************************************************************************
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมาย:
โทร. 032-616-880 แผนกบริการผู้ป่วยนอก ชั้น 1 (7.00 – 19.00 น.)
โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน
โปรโมชั่น-แพ็กเกจ ติดต่อ Line: @bangkokhuahin หรือ https://lin.ee/5tso2l0