โรคตาในผู้สูงอายุ... ดูแลก่อนสูญเสียถาวร
โรคตาเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการมองเห็นและคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ดังนั้นการรู้เท่าทันโรคทางตาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย ถ้าหากตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ จะสามารถทำการรักษาได้อย่างเหมาะสม และชะลอหรือป้องกันการสูญเสียดวงตาได้
นพ. ธนันตร์ หิรัญพัทรวงศ์ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า โรคทางตาในผู้สูงอายุ เป็นโรคซึ่งยากจะหลีกเลี่ยง เมื่อร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงและความเสื่อมมาเยือนตอนอายุมากขึ้น โดยสาเหตุมักเกิดจากการเสื่อมสภาพของระบบสายตา และอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ หรืออาจเกิดจากการใช้ยาและภาวะเครียด
โรคทางตาที่มักพบในผู้สูงอายุ
ต้อกระจก (Cataract) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ เกิดจากการสะสมของโปรตีนในต้อกระจกของตา ทำให้เลนส์แก้วตาแข็งและขุ่นขึ้น สายตาจึงมัวลง มีเงาหรือฝ้าบังการมองเห็น ระยะต้นจะมองเห็นผิดปกติในสภาพแสงที่จ้าหรือสลัว โดยขึ้นอยู่กับระดับและตำแหน่งของความขุ่นฝ้าในเนื้อเลนส์ ต้อกระจกบางชนิดทำให้สายตาสั้นหรือยาวมากขึ้นมาก ๆ ได้ และสายตาจะมัวลงเรื่อย ๆ ปัจจุบันการผ่าตัดต้อกระจกเป็นวิธีการรักษาวิธีเดียว โดยแนะนำให้ทำการรักษาเมื่อระดับการมองเห็นส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือการทำงาน
ต้อหิน (Glaucoma) เกิดจากความเสื่อมของเส้นประสาทตา โดยมีปัจจัยสำคัญคือความดันภายในตาสูง และพันธุกรรม โรคต้อหินมีการดำเนินอย่างช้า ๆ และผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ยกเว้นต้อหินแบบเฉียบพลัน จะมีอาการปวดตา ตามัวลง อาจปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
โรคนี้จะทำลายขั้วประสาทตาไปเรื่อย ๆ จนทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ดังนั้นการตรวจคัดกรองและพบในระยะแรกเริ่ม จะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาเพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็น
จอประสาทตาเสื่อม (Macular Degeneration) เกิดจากจุดรับภาพบริเวณกลางจอประสาทตาเสื่อม ทำให้มองเห็นได้ไม่ชัดเจนหรือมองเห็นเป็นจุดๆ หรือมีเงาตรงกลางภาพ โดยมักจะมีอาการเป็นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งผู้ป่วยมองเห็นได้แค่สิ่งของบางส่วนของภาพหรือไม่มองเห็นเลย โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการและช่วยควบคุมไม่ให้แย่ลง ผู้ป่วยควรเฝ้าระวังและมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตาอย่างสม่ำเสมอ โดยบางรายอาจใช้การปรับแต่งแว่นตาเพื่อช่วยให้มองเห็นชัดขึ้น รับประทานอาหารที่มีสารอาหารสำคัญสำหรับสายตา การควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุของจอประสาทต่อเสื่อ เช่น เบาหวาน และความดันโลหิตสูง หรือแพทย์อาจใช้ยาเพื่อช่วยลดรักษาและลดอาการ
การดูแลสุขภาพตาในผู้สูงอายุ
การตรวจสุขภาพตา: ผู้สูงอายุควรทำการตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยปกติแล้ว ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพตาทุก 2 ปี และในผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจทุก 1 ปี หรือในท่านที่มีความผิดปกติ ควรได้รับการตรวจติดตามอาการตามที่แพทย์แนะนำซึ่งขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละท่าน อาทิ การวัดสายตา วัดความดันตา ตรวจดูลักษณะของมุมตา โดยรอบ 360 องศา (Gonioscopy) ตรวจความกว้างของลานสายตา (Visual field analyses) วัดความหนาของชั้นประสาทตา โดยรอบขั้วประสาทตา ด้วยเครื่องสแกนวิเคราะห์จอประสาทตาและขั้วประสาทตา (OCT and fundus photo) เพราะสิ่งสำคัญในผู้ป่วยโรคตา คือการติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยชะลอและป้องกันการสูญเสียการมองเห็น
การรักษาสุขภาพตา: การใช้แว่นตาที่เหมาะสมกับค่าสายตา การใช้น้ำตาเทียม การใช้แว่นกันแดด เพื่อป้องกันแสง UV ที่สามารถทำให้เกิดความเสียหายต่อดวงตา โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคทางตาที่มีการรักษาด้วยยาหรือผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษามากที่สุด
และนอกจากโรคตาที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ปัจจุบันปัญหาตาแห้ง สายตาล้า พบได้มากขึ้นในทุกช่วงอายุ ด้วยพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ที่มีอาการควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจและคำแนะนำในการดูแล และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม
การดูแลสุขภาพร่างกายโดยรวม: การตรวจสุขภาพประจำปี การออกกำลังกายเป็นประจำ การรับประทานอาหารที่มีสารอาหารสำคัญสำหรับสายตา เช่น วิตามิน A, C, E, และสารต้านอนุมูลอิสระ และการควบคุมโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
“โรคตาในผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย และสามารถส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้โดยตรง ดังนั้นการดูแลสุขภาพตาของผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่สำคัญ ตัวผู้ป่วยเอง ตลอดจนคนในครอบครัวหรือผู้ที่ดูแล ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในการเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคตาอย่างเหมาะสม แม้โรคทางตาหลายโรคจะไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมหรือป้องกันการสูญเสียการมองเห็นที่ถาวรได้ หากมีการตรวจพบตั้งแต่แรกเริ่ม และได้รับการรักษาที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
**************************************************************************
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมายพบแพทย์ กรุณาติดต่อ :
โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน
โทร. 032-616-880 แผนกบริการผู้ป่วยนอก / จักษุ (8.00 – 17.00 น.)
ข่าวสาร & โปรโมชั่น >> Line : @bangkokhuahin