ถ้าเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ต้องทำตัวอย่างไร?
“นิ่วในถุงน้ำดี” (Gallstone) เป็นโรคในระบบทางเดินน้ำดีที่สามารถพบได้บ่อย ในประชากรทั่วไปสามารถพบว่ามีนิ่วในถุงน้ำดีได้ถึง 10-15% โดยทั่วไปจะพบอุบัติการณ์มากขึ้นในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี โดยเฉพาะผู้หญิงซึ่งจะพบมากกว่าผู้ชายได้ถึง 2-3 เท่า รวมทั้งผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน รับประทานยาคุมกำเนิดหรือยาฮอร์โมนที่มีส่วนผสมของเอสโตรเจน ล้วนเพิ่มโอกาสที่จะพบนิ่วในถุงน้ำดีมากขึ้นอีกด้วย สำหรับผู้ป่วยโรคเลือด เช่นโรคทาลัสซีเมีย หรือโรคเลือดอื่นๆ ที่มีผลให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายก็พบว่ามีโอกาสพบนิ่วในถุงน้ำดีมากขึ้นตั้งแต่อายุน้อยด้วยเช่นกัน
นพ.ณัฐพร นวลอุทัย ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า หากอยากรู้ว่านิ่วในถุงน้ำดีเกิดขึ้นได้อย่างไร เริ่มแรกต้องทำความรู้จักถุงน้ำดีก่อน ถุงน้ำดีเป็นอวัยวะในทางเดินน้ำดีที่อยู่บริเวณช่องท้องส่วนขวาบน มีหน้าที่เก็บกักน้ำดีที่ผลิตจากตับซึ่งมีหน้าที่ช่วยให้อาหารจำพวกไขมันแตกตัวก่อนที่น้ำย่อยจากตับอ่อนจะเข้าไปทำการย่อย ซึ่งในผู้ที่มีภาวะไม่สมดุลของสารประกอบในน้ำดีก็จะเกิดการตกตะกอนของน้ำดีกลายเป็นนิ่วขึ้นในถุงน้ำดีนั่นเอง โดยทั่วไปแล้วนิ่วที่พบได้บ่อยในถุงน้ำดีจะมีอยู่สองประเภทคือนิ่วชนิดคอเลสเตอรอล (cholesterol stones) และนิ่วเม็ดสีบิลลิรูบิน (pigmented stones)

อาการนิ่วในถุงน้ำดีเป็นอย่างไร

ปกติแล้วผู้ป่วยที่มีนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าครึ่งจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ และทราบว่ามีนิ่วในถุงน้ำดีจากการตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจอัลตร้าซาวน์ช่องท้อง หรือการตรวจทางรังสีช่องท้องด้วยปัญหาอื่นๆ ในกลุ่มที่มีอาการจากนิ่วในถุงน้ำดีจะมีได้ตั้งแต่อาการปวดอืดแน่นท้อง เสียดท้องหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบสูง มีอาการอาหารไม่ย่อย ปวดท้องใต้ชายโครงขวาเป็นๆ หายๆ หรืออาจมีอาการปวดร้าวไปที่สะบักขวาร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการใดอาการหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องมีทุกอาการก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่จะมาด้วยอาการที่มีภาวะแทรกซ้อนของนิ่วในถุงน้ำดีแล้วก็ได้ อาทิ เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ จะมีอาการปวดท้องด้านขวาบนตลอดเวลาร่วมกับมีไข้ นิ่วตกไปอุดตันท่อน้ำดี มีท่อน้ำดีอักเสบ ซึ่งจะพบว่าผู้ป่วยะมีอาการตัวตาเหลืองร่วมด้วย นิ่วตกลงไปท่อตับอ่อน ทำให้มีอาการปวดท้องรุนแรงทะลุไปหลังร่วมกับมีไข้ ส่วนภาวะแทกซ้อนจากนิ่วในถุงน้ำดีที่ใหญ่มากๆ จนไปทำให้เกิดลำไส้อุดตันก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่จะพบได้น้อยมาก แล้วถ้าหากมีอาการสงสัยจะมีนิ่วในถุงน้ำดี จะสามารถตรวจได้อย่างไร เมื่อแพทย์ได้ทำการซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยเบื่องต้นแล้วมีความสงสัยว่าผู้ป่วยจะมีนิ่วในถุงน้ำดี โดยทั่วไปการตรวจด้วยอัลตร้าซาวน์ในช่องท้องก็เพียงพอที่จะวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดีแล้ว ผู้ป่วยบางรายหากสงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อนจากนิ่วในถุงน้ำดีเกิดขึ้นแล้ว อาจต้องได้รับการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และการตรวจโดยใช้กล้องส่องผ่านทางปากร่วมด้วย ซึ่งแพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติมเฉพาะผู้ป่วยบางรายตามความจำเป็นเท่านั้น

นิ่วในถุงน้ำดีเมื่อไหร่ต้องทำการรักษา

โดยทั่วไปถ้าผู้ป่วยมีอาการจากนิ่วในถุงน้ำดี หรือปรากฏหลักฐานภาวะแทรกซ้อนจากนิ่วในถุงน้ำดีแล้วก็มีความจำเป็นต้องทำการรักษาทุกราย เพื่อป้องกันหรือแก้ไขภาวะแทรกซ้อนซึ่งหากเกิดขึ้นแล้วจะมีความอันตรายถึงชีวิตได้ สำหรับผู้ป่วยที่พบนิ่วในถุงน้ำดีแต่ไม่มีอาการหรือไม่มีหลักฐานบ่งชี้ภาวะแทกซ้อนจากนิ่วในถุงน้ำดีก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องทำการรักษา แต่ผู้ป่วยต้องคอยหมั่นสังเกตุอาการของตนเองอยู่เสมอ เนื่องจากพบว่าเมื่อเวลาผ่านไป มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งสามารถมีอาการจากนิ่วในถุงน้ำดีเกิดขึ้นได้ในภายหลัง  

การรักษานิ่วในถุงน้ำดีต้องทำอย่างไร

ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานการักษานิ่วในถุงน้ำดีด้วยการสลายนิ่วหรือการรับประทานยาที่ได้ผลที่ดีพอ การรักษานิ่วในถุงน้ำดีจึงเป็นการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกเพื่อไม่ให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีอีกต่อไปและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่างๆ วิธีมาตรฐานในการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกในปัจจุบันจะใช้การผ่าตัดผ่านกล้อง (laparoscopic cholecystectomy) ซึ่งจะผ่าตัดผ่านแผลรูเปิดเล็กๆ ที่หน้าท้อง โดยผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็ว เจ็บแผลผ่าตัดน้อยและกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้รวดเร็วกว่า สำหรับการผ่าตัดแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นการผ่าตัดเปิดหน้าท้องเพื่อเอาถุงน้ำดีออก (open cholecystectomy) จะเลือกใช้เฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนจากนิ่วในถุงน้ำดีที่รุนแรงและประเมินแล้วว่าไม่ปลอดภัยเมื่อทำการผ่าตัดแบบผ่ากล้องเท่านั้น สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มาหลังจากที่มีภาวะแทรกซ้อนจากนิ่วในถุงน้ำดีแล้ว อาจต้องได้รับการได้รับการฉีดยาปฏิชีวนะไปก่อน หรือบางรายอาจต้องได้รับการรักษาอื่น เช่น การส่องกล้องเพื่อลากนิ่วในท่อน้ำดีออก ก่อนเข้ารับการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกในภายหลัง

หลังตัดถุงน้ำดีออกไปแล้วจะส่งผลกระทบอย่างไร

ทั่วไปแล้วหากทำการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งจะลดโอกาสภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น ท่อน้ำดีรั่ว ท่อน้ำดีตีบตัน หรือบาดเจ็บอวัยะอื่นๆ ระหว่างผ่าตัด ผู้ป่วยจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติหลังจากหายเจ็บแผลผ่าตัด จะมีผู้ป่วยส่วนน้อยเท่านั้นที่พบว่าในช่วงแรกหลังการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกจะมีอาการอืดท้องหลังรับประทานอาหารจำพวกไขมันในปริมาณมาก หรือบางรายอาจมีอาการท้องเสีย ซึ่งอาการเหล่านี้จะดีขึ้นหลังร่างกายจะปรับตัว และไม่ส่งผลทำให้รบกวนชีวิตประจำวันแต่อย่างใด ทั้งนี้ นพ.ณัฐพร ยังได้แนะนำว่า สำหรับผู้ที่มีความกังวล สามารถเข้ารับการตรวจเช็คสุขภาพประจำปี เพื่อป้องกันการเกิดโรค หรือสามารถแก้ไขได้หากตรวจพบว่าเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี ************************************************************************** สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ :  คลินิกศัลยกรรมทั่วไป ชั้น 1 โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน โทร. 032-616-833 หรือ Call Center โทร. 032-616-800