"ต้อหิน" ภัยร้ายที่ไม่มีสัญญาณเตือน
ต้อหิน เป็นโรคตาซึ่งคนที่เป็นส่วนใหญ่มักจะไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นโรคนี้ บางรายกว่าจะทราบก็มักจะใกล้บอดแล้ว ที่อันตรายที่สุดคือ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ทำให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในแต่ละบุคคล ต่างกับโรคต้อเนื้อ ต้อลม ต้อกระจก  ที่สามารถฟื้นฟูได้ เพราะโรคต้อหินจะทำลายขั้วประสาทตาไปเรื่อย ๆ หากสูญเสียไปแล้วก็ไม่สามารถกู้กลับคืนมาให้เป็นปกติ ดังนั้น “ต้อหิน” จึงภัยเงียบที่อาจทำให้คุณสูญเสียดวงตาได้หากไม่ระวัง นายแพทย์ธนันตร์ หิรัญพัทรวงศ์ จักษุแพทย์  โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน  กล่าวว่า เนื่องจากโรคต้อหินมีการดำเนินอย่างช้า ๆ  ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่มีอาการ นอกจากผู้ป่วยบางรายที่เป็นแบบเฉียบพลันจะมีอาการตามัวลงพร้อม ๆ กัน ปวดตา ปวดศีรษะซีกเดียวกัน  ซึ่งโรคต้อหินเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุ โดยมักเริ่มจาก 40 ปี และเสื่อมลงตามอายุ ผู้ที่มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้แก่ ผู้ที่มีความดันตาที่สูงกว่าปกติ ผู้ที่มีสายตาสั้นมากหรือสายตายาวมาก ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หรือผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์ ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุทางตา เคยได้รับการผ่าตัดตา หรือซื้อยาหยอดตาเองที่มีส่วนผสมของสเตอรอยด์ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคต้อหินได้ หลักในการดูแลต้อหินคือ การตรวจและรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม เพื่อป้องกันความเสื่อมของเส้นประสาทตา ในระยะแรกของโรคจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ให้เห็น ส่วนใหญ่ตรวจพบโดยบังเอิญ ดังนั้นการตรวจตาเป็นประจำทุกปีจะช่วยในการคัดกรองความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ และยังสามารถรักษาตั้งแต่เริ่มต้น จากภาพกราฟการดำเนินโรคต้อหิน แสดงให้เห็นลักษณะของคนไข้ต้อหินที่มีการเสื่อมของเส้นประสาทตา ส่งผลต่อการมองเห็น และมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะพิการทางสายตาหรือสูญเสียการมองเห็นเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นการเริ่มตรวจรักษาที่เร็วจะสามารถรักษาประสาทตาที่เหลือและป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้ นพ.ธนันตร์ ยังได้แนะนำว่า ในปัจจุบันโรคต้อหินไม่สามารถรักษาให้หายขาดแต่สามารถควบคุมได้ เมื่อวินิจฉัยว่า เป็นโรคต้อหินแล้วต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง หลักการรักษาคือการลดความดันในลูกตา ป้องกันตาบอดโดยการใช้ยาหยอด ใช้แสงเลเซอร์รักษา การผ่าตัดเพื่อควบคุมความดันตา และตรวจติดตามผลการรักษา การตรวจสุขภาพตา วัดสายตา วัดความดันตา ตรวจลักษณะของตาด้านหน้า ตรวจจอประสาทตาและขั้วประสาทตา สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงแพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ ตรวจดูลักษณะของมุมตา โดยรอบ 360 องศา (Gonioscopy) ตรวจความกว้างของลานสายตาด้วยคอมพิวเตอร์ (Visual field analyses) วัดความหนาของชั้นประสาทตา โดยรอบขั้วประสาทตา ด้วยเครื่องสแกนวิเคราะห์จอประสาทตาและขั้วประสาทตา (OCT) ด้วยเทคโนโลยีที่จะช่วยให้แพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยได้ง่ายขึ้น อีกทั้งสามารถถ่ายรูปขั้วประสาทตา  ซึ่งช่วยในการตรวจติดตามผลและความก้าวหน้าของโรค ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือการติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็น และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน มีความพร้อมด้วยจักษุแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ และเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยโรคต้อหินเกิดขึ้นได้ในประชากรทั่วไป แพทย์ได้แนะนำให้ทุกท่านมีการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ และสำหรับท่านที่มีความเสี่ยงต่อโรคต้อหินควรได้รับการตรวจคัดกรอง คือผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไปทุกท่าน ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคต้อหินเป็นประจำทุกปี โดยตรวจวัดสายตา วัดความดันตา วัดความหนาของกระจกตา การถ่ายภาพขั้วประสาทตาแบบ 3 มิติ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหิน หรือหากเกิดความผิดปกติก็จะทราบได้ว่าอยู่ในระยะใดแล้ว เพื่อจะได้รีบทำการรักษาและเกิดประสิทธิภาพในการรักษามากที่สุด ภัยร้ายในดวงตาก็จะไม่ถามหา ********************************************************************* แผนกจักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน ติดต่อสอบถามที่ โทร. 032-616-880 | Email: [email protected]