เข้าใจความเสี่ยง… เลี่ยงการบาดเจ็บจากกีฬากอล์ฟ
“กอล์ฟ” เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมในทุกเพศและทุกวัย ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีการฝึกฝนกันตั้งแต่ยังเด็ก ไปจนถึงผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ซึ่งมีทั้งแบบสมัครเล่นและอาชีพ แม้การเล่นกอล์ฟจะเป็นกีฬาที่ไม่ได้ใช้กำลังโดยตรงหรือมีการปะทะร่างกายแบบกีฬาอื่นๆ แต่กอล์ฟก็เป็นกีฬาที่เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงอาการรุนแรง ทั้งจากการเล่นหนักมากเกินไปจนเป็นอาการสะสม หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุเฉียบพลัน
นพ. ศุภณัฐ ตันติรุ่งโรจน์ชัย ศัลยแพทย์ผ่าตัดกระดูกและข้อ สาขาเวชศาสตร์การกีฬา โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า นักกอล์ฟควรให้ความสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อให้มีความพร้อมก่อนออกรอบ ควรทำการอบอุ่นร่างกายทุกครั้ง เพื่อกระตุ้นหัวใจให้เลือดไหลเวียน และยืดเหยียดร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมกล้ามเนื้อ หลังจากออกรอบควรคูลดาวน์ร่างกายเพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายลง อีกทั้งการเลือกใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสมกับการเล่นและเทคนิคของแต่ละคน รวมไปถึงท่าทางการตีที่ถูกต้องตามหลัก ก็มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการบาดเจ็บได้เช่นกัน โดยอวัยวะที่เสี่ยงเกิดการบาดเจ็บที่มักพบในกีฬากอล์ฟ ได้แก่
ข้อศอก เป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อย ซึ่งเรียกกันว่า “โรคข้อศอกนักกอล์ฟ” สำหรับคนที่ถนัดขวา มักพบการบาดเจ็บบริเวณเอ็นด้านในของข้อศอกขวา (Medial Epicondylitis) หรือบริเวณด้านภายนอกของข้อศอกซ้าย (Lateral Epicondylitis) อาการของโรคข้อศอกนักกอล์ฟทั้งสองประเภทจะมีอาการปวดที่ข้อศอกเมื่อใช้กล้ามในการเล่นกอล์ฟหรือทำท่าที่เกี่ยวข้องกับข้อศอก เช่น การพยายามตีไกลแรงๆ มีการดึงรั้งในขณะขึ้นวงสวิง ใช้กล้ามเนื้อมากเกินหรือบ่อยเกินไป ทำให้เกิดแรงกระชาก ปวดเรื้อรัง มีการอักเสบหรือฉีกขาดของเอ็นกล้ามเนื้อได้
ข้อมือ กอล์ฟเป็นกีฬาที่ต้องใช้ข้อมืออย่างต่อเนื่อง จึงมักเกิดการบาดเจ็บจากเอ็นด้านในของข้อมือที่เกิดจากการกระดกข้อมือ การกระแทก การจับไม้กอล์ฟหลวมหรือแน่นเกินไป ใส่แรงตีมากไป การบิดข้อมือระหว่างวงสวิง ใช้กล้ามเนื้อข้อมือในกระบวนการสวิงกอล์ฟอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เอ็นด้านในของข้อมือปวด อักเสบและบาดเจ็บฉีกขาดได้ นอกจากเส้นเอ็นก็มีกระดูกข้อมืออยู่หนึ่งชิ้น ซึ่งมักจะบาดเจ็บแตกหักที่สัมพันธ์กับการตีกอล์ฟมากๆ คือกระดูกฮาเมต (Hamate) ถ้ามีอาการบาดเจ็บก็ควรจะต้องมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
หลัง โดยเฉพาะหลังส่วนล่าง เป็นปัญหาที่พบบ่อยเช่นกัน อาจจะบาดเจ็บได้ตั้งแต่ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังจากการใช้งานที่หนักเกินไป ในนักกอล์ฟสมัครเล่น มักพบการอักเสบของกล้ามเนื้อหลังฉีกขาดขณะหมุนตัวที่ไม่ถูกต้อง หรือการสวิงกอล์ฟที่มีการหมุนศอกอาจทำให้เกิดความกดของกล้ามเนื้อที่หลังส่วนล่าง และอาจพบข้อต่อหรือหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนหรืออักเสบ ในนักกอล์ฟอาชีพ อาจพบการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและกระดูกต้นคอ ในนักกอล์ฟสูงอายุอาจพบกระดูกสันหลังเสื่อมแล้วเกิดการแตกหักได้ สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ปวดหลังได้อีก อาทิ การแบกกระเป๋ากอล์ฟหนักๆ กับการที่ต้องก้มๆ เงยๆ หยิบลูกกอล์ฟขณะเล่น ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่าให้ฝึกใช้กล้ามเนื้อกลุ่มอื่นมาทดแทน เช่น กล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งจะช่วยทำให้ลดอาการบาดเจ็บได้
หัวไหล่ การสวิงกอล์ฟนั้นมีการเคลื่อนไหวของไหล่ขึ้นลงซ้ำๆ ส่งผลให้เอ็นรอบหัวไหล่เกิดการเสียดสีกับกระดูกเกิดการอักเสบหรือฉีกขาดได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุหรือคนที่เคยข้อไหล่หลุดหรือหลวม จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บหัวไหล่ได้มากขึ้น นอกจากเส้นเอ็นหัวไหล่ ก็จะพบอาการปวดที่ข้อกระดูกปลายสุดของไหปลาร้าได้เหมือนกัน (AC joint)
โดยการบาดเจ็บในกีฬากอล์ฟ มักจะพบในระยางค์ส่วนบน หัวไหล่ ข้อศอก ข้อมือ แต่ในระยางค์ส่วนล่างก็พบได้เช่นกัน ได้แก่
ข้อเข่า หากมีการเล่นกอล์ฟผิดจังหวะ ส่งผลต่อการบิดหมุนข้อเข่า โดยเฉพาะกอล์ฟเป็นกีฬาที่ต้องมีการเดินหรือยืนนานๆ อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บในข้อเข่า เอ็นรอบข้อเข่า กระดูกอ่อน หรือหมอนรองกระดูกด้านในข้อเข่าเสื่อมหรือฉีกขาดได้
ข้อเท้า การพลิกข้อเท้าขณะเล่น หรือการวางเท้า บิดหมุนที่ผิดจังหวะ อาจทำให้เอ็นข้อเท้าหรือเอ็นร้อยหวายเกิดการบาดเจ็บ และยังอาจมีอาการปวดข้อเท้าหรือข้อเท้าบวมเกิดขึ้นได้ได้ ตลอดจนอาจเกิดอุบัติเหตุจากการเดินลื่นสะดุดล้มในสนามกอล์ฟได้
“การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นกีฬาชนิดไหน โดยเฉพาะกีฬากอล์ฟที่ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไปหรือนักกีฬาอาชีพก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นการเข้าใจความเสี่ยงของอาการบาดเจ็บที่พบบ่อยจากการเล่นกอล์ฟจะช่วยให้นักกอล์ฟสามารถรับมือเมื่อเกิดเหตุได้อย่างทันท่วงที ที่สำคัญควรเรียนรู้เทคนิคสวิงกอล์ฟด้วยท่าที่ถูกต้อง นอกจากจะช่วยเพิ่มความแม่นยำและช่วยให้เล่นกอล์ฟได้อย่างมีความสุขแล้ว ยังช่วยให้นักกอล์ฟเพิ่มความระมัดระวังในการใช้งานร่างกายและลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บ ทั้งนี้หากเกิดอุบัติเหตุหรือมีอาการบาดเจ็บควรหยุดเล่นทันทีและรีบมาพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมโดยเร็วที่สุดตั้งแต่แรกเริ่มครับ” นพ. ศุภณัฐ กล่าวทิ้งท้าย
**************************************************************************
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมายพบแพทย์ กรุณาติดต่อ :
โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน
โทร. 032-616-832 แผนกกระดูกและข้อ (8.00 – 17.00 น.)
ข่าวสาร & โปรโมชั่น >> Line : @bangkokhuahin