โรคเกาต์… มีความเสี่ยงมากกว่าที่คุณคิด
โรคเกาต์ คือโรคที่มีภาวะค่ายูริกในเลือดสูงสะสมเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดการอักเสบของข้อ เกิดนิ่วในไต การที่มีภาวะยูริกในเลือดสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดผลึกยูเรตตกตะกอนสะสมตามเนื้อเยื่อข้อ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดข้ออักเสบเฉียบพลัน หากมีการสะสมของผลึกยูเรตมากขึ้น จะทำให้เกิดก้อนโทฟัส (tophus) และทำให้เกิดการทำลายกระดูกและข้อ และผลึกยูเรตยังสามารถสะสมในเนื้อเยื่อไตและท่อไต ทำให้เกิดนิ่วในไตอีกด้วย
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเกาต์ที่เราสามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ ได้แก่ ภาวะโรคอ้วน และอาหาร เครื่องดื่มที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคเกาต์ เช่น เนื้อแดง (เนื้อวัว เนื้อหมู แฮม ไส้กรอก เบคอน) อาหารทะเล (เนื้อปลา กุ้ง หอยนางรม หอยเชลล์) เครื่องในสัตว์ อาหารที่มีน้ำตาลสูง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งเบียร์และสุรา
โดย แพทย์หญิง นราวดี โฆษิตเภสัช อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า โรคข้ออักเสบเกาต์ มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง เพศหญิงจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือน ส่วนใหญ่จะมีการอักเสบของข้อ เริ่มจากข้อที่อยู่ด้านล่างของร่างกายก่อน โดยร้อยละ 50 มักจะเริ่มที่ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า และอาจพบที่ข้อเท้า ข้อเข่า มักจะเป็นเพียงข้อเดียวในระยะแรก โดยผู้ป่วยจะมีความทุกข์ทรมานจากการปวดข้ออย่างมาก มักมีอาการปวดบวมแดงร้อนที่ข้อมากในระยะ 24 – 48 ชั่วโมงแรก ทั้งนี้ถ้าโรคข้ออักเสบเกาต์ไม่ได้รับการรักษาเป็นระยะเป็นเวลานาน จะเกิดการทำลายของข้อ ทำให้เกิดข้อพิการผิดรูป มีตุ่มก้อนโทฟัสขึ้นตามร่างกาย และเป็นสาเหตุของนิ่วในไต
การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบเกาต์ อย่างแรกต้องทำการซักประวัติตรวจร่างกายว่าเป็นโรคเกาต์จริงหรือไม่ หากมีการอักเสบของข้อ การเจาะข้อเพื่อตรวจน้ำไขข้อหาผลึกยูเรตจะเป็นการวินิจฉัยที่แน่นอนมากกว่าการเจาะเลือดตรวจระดับกรดยูริก
ข้อควรปฏิบัติหากกังวลว่าตนเองจะเป็นโรคเกาต์ในอนาคต คือ ควรจะควบคุมอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ เนื้อแดง อาหารที่มีน้ำตาลสูง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเป็นอาหารที่เพิ่มยูริกในเลือด และควรออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก เพื่อไม่ให้มีภาวะโรคอ้วน เพราะว่าโรคเกาต์จะมักมาพร้อมกับโรคร่วมอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ฉะนั้นการดูแลโรคอื่นๆ เช่น การควบคุมระดับความดันโลหิต การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และการควบคุมระดับไขมันในเลือด ก็มีส่วนจำเป็นที่ต้องดูแลควบคู่กัน
“เมื่อตรวจเจอระดับกรดยูริกในเลือดสูงเกินเกณฑ์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีอาการปวดข้อ กับ กลุ่มไม่มีอาการปวดข้อ กลุ่มที่ยังไม่มีอาการปวดข้อ แนะนำให้ออกกำลังกาย และควบคุมอาหารที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล และอาหารที่ให้ความหวานสูง ส่วนกลุ่มที่มีค่ายูริกในเลือดสูงร่วมกับมีอาการปวดข้อ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาต่อไป เพราะผู้ป่วยโรคเกาต์ มักจะมีโรคอื่นๆ แทรกเข้ามาอีก ดังนั้นเราควรดูแลรักษาสุขภาพเพื่อป้องกันโรคอื่นๆ ที่จะตามมา” พญ. นราวดี กล่าวทิ้งท้าย
**************************************************************************
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมายพบแพทย์ กรุณาติดต่อ :
โทร. 032-616-880 (7.00 – 19.00 น.) คลินิกอายุรกรรม ชั้น 1
โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน
Line : @bangkokhuahin หรือ https://lin.ee/5tso2l0