ริดสีดวงทวาร...โรคเรื้อรังที่รักษาได้
ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids) เป็นโรคที่สามารถพบได้ในคนทุกเพศและทุกวัย ก่อปัญหาให้กับคนไข้ได้ตั้งแต่ความไม่สุขสบายทางใจ สูญเสียความมั่นใจ รบกวนชีวิตประจำวัน รวมไปถึงความไม่สุขสบายทางกาย มีเลือดออกทางทวารหนัก หรือบางรายอาจมีอาการปวดอย่างรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วนก็เป็นได้ นพ.ณัฐพร นวลอุทัย ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า สาเหตุของการเกิดโรคนี้ เกิดจากเส้นเลือดดำบริเวณใต้ผิวเยื่อบุลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและรอบรูทวารมีการโป่งพองขึ้น ในภาวะปกติแล้ว หลอดเลือดดำบริเวณนี้จะมีหน้าที่ผ่านเลือดกลับช่องท้องส่วนล่าง ในผู้ที่มีความดันในช่องท้องสูงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนั่งเบ่งถ่ายอุจจาระนาน ๆ จากปัญหาท้องผูกเรื้อรัง มีอุปนิสัยอ่านหนังสือหรือใช้โทรศัพท์ระหว่างนั่งถ่ายอุจจาระ มีอาชีพที่ต้องยืนนาน ๆ ในแต่ละวัน ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก รวมไปถึงผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ล้วนส่งผลให้เลือดดำไม่สามารถเดินทางกลับไปยังช่องท้องได้สะดวก เป็นผลให้เกิดโรคริดสีดวงทวารตามมาได้ทั้งสิ้น
โดยทั่วไปแล้ว หลอดเลือดที่โป่งพองนี้จะแบ่งได้เป็นสองตำแหน่งใหญ่ ๆ ตำแหน่งแรกคือด้านนอกรูทวารหนัก ที่เรียกว่าโรคริดสีดวงทวารภายนอก (External hemorrhoids) ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการก้อนที่รอบทวารหนักและอาจมีอาการปวดได้จากภาวะแทรกซ้อน สำหรับอีกตำแหน่งหนึ่งคือด้านในรูทวารหนัก หรือเรียกว่าโรคริดสีดวงทวารภายใน (Internal hemorrhoids) ซึ่งผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการมีเลือดออกระหว่างเบ่งถ่ายอุจจาระ อาจพบในลักษณะมีเลือดเปื้อนกระดาษชำระ หรือ เลือดไหลเป็นหยดหลังถ่ายอุจจาระเสร็จก็ได้ โรคริดสีดวงทวารภายในจะแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะด้วยกัน คือ –  ระยะที่ 1 เส้นเลือดดำที่โป่งพองอยู่เฉพาะในรูทวารหนักเท่านั้น ไม่สามารถคลำพบก้อนริดสีดวงได้ – ระยะที่ 2 เส้นเลือดดำที่โป่งพองขยายขนาดขึ้นและออกมาให้เห็นเป็นก้อนริดสีดวงขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ หลังถ่ายอุจจาระก้อนริดสีดวงหายกลับไปเอง – ระยะที่ 3 ก้อนหัวริดสีดวงที่ปรากฏขณะเบ่งถ่ายอุจจาระไม่หายไปเองหลังถ่ายอุจจาระ ต้องใช้มือช่วยดันกลับเข้าในในรูทวาร – ระยะที่ 4 ก้อนริดสีดวงไม่สามารถดันกลับเข้าไปในรูทวารได้ ซึ่งอาจมีการบวมและอักเสบร่วมด้วย ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บที่ก้อนริดสีดวงได้ นอกจากนี้การที่เลือดออกจากริดสีดวงเป็นเวลานานอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียจากภาวะโลหิตจางได้เช่นกัน การวินิจฉัยโรคริดสีดวงทวาร จะอาศัยการซักประวัติและการตรวจร่างกายโดยแพทย์เป็นสำคัญ แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการเลือดออกทางทวารหนักหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดนั้นมักจะมีสาเหตุมาจากโรคริดสีดวงทวารก็ตาม แต่ก็ยังมีโรคหรือภาวะอื่น ๆ อีกที่มีการแสดงของโรคที่คล้ายกัน รวมทั้งโรคที่สำคัญอย่างมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุของการถ่ายอุจจาระมีเลือดปน หรืออาจะเป็นโรคที่พบร่วมกันกับโรคริดสีดวงทวารก็เป็นได้ ซึ่งหลังจากการตรวจแล้วหากอาการถ่ายเป็นเลือดไม่สามารถอธิบายจากโรคริดสีดวงทวารได้ หรือมีประวัติอื่น ๆ ชี้ชวนให้สงสัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักแล้ว ผู้ป่วยก็ควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนักเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ป่วยที่มาด้วยก้อนที่รอบทวารหนักและสงสัยว่าเป็นริดสีดวงทวารก็สามารถเป็นโรคหรือภาวะอื่นได้ เช่น โรคติดเชื้อบางชนิด หรือมะเร็งผิวหนังที่เกิดบริเวณรอบทวารหนักก็สามารถพบได้เช่นกัน สำหรับแนวการรักษาผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารนั้น ในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงจะเริ่มจากการรักษาวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัดก่อน แนะนำให้ผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารทุกรายเริ่มจากการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเพิ่มความดันในช่องท้อง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เส้นเลือดดำบริเวณใต้ผิวเยื่อบุลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและรอบรูทวารมีการโป่งพองจนเกิดขึ้นเป็นเป็นริดสีดวง ซึ่งได้แก่ – ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 – 10 แก้ว เพื่อให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับถ่ายได้สะดวก – รับประทานอาหารจำพวกผักและผลไม้ ชนิดที่มีกากใยสูง เพื่อป้องกันท้องผูก – หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด ชา กาแฟ ของหมักดองและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ – ฝึกขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา ไม่กลั้น ไม่เบ่งอุจจาระอย่างรุนแรง ใช้ยาระบายอ่อนๆ ช่วยหากมีความจำเป็น – งดนิสัยการอ่านหนังสือหรือใช้โทรศัพท์ขณะขับถ่ายอุจจาระ เพื่อลดเวลาการนั่งถ่ายอุจจาระลง – หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องนั่งหรือยืนนานๆ งดยกของหนัก – ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนอย่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด – รักษาความสะอาดบริเวณรอบทวารหนัก ไม่ควรทำความสะอาดด้วยกระดาษชำระที่แข็งเกินไป หรือสารเคมีที่ทำให้เกิดความระคายเคือง – แก้ไขภาวะน้ำหนักเกิน – เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น เลือดออกรุนแรง หรือหัวริดสีดวงบวมและมีอาการเจ็บ ไม่สามารถดันกลับเข้าไปในทวารหนักได้ ควรเข้ามาพบแพทย์และทำการรักษา ไม่ควรทิ้งไว้นานเพราะอาจทำให้อาการเป็นรุนแรงมากขึ้น และการรักษาทำได้ยากขึ้น หลังจากผู้ป่วยสร้างสุขนิสัยดังกล่าวนี้แล้ว จะช่วยให้อาการของริดสีดวงทวารดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง ในผู้ป่วยบางรายที่อาการไม่ทุเลามีความจำเป็นต้องเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลและพิจารณาใช้ยาช่วยแก้ไข ซึ่งประกอบไปด้วยยารับประทาน และยาใช้เฉพาะที่ หากรักษาด้วยวิธีดังกล่าวนี้แล้วไม่ดีขึ้น การรักษาขึ้นต่อไปก็คือ การรักษาทางศัลยกรรมซึ่งทำได้โดยการยางรัดหัวริดสีดวง หรือการผ่าตัดหัวริดสีดวงออก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและดุลพินิจของแพทย์  อย่างไรก็ตาม นพ.ณัฐพร ยังได้แนะนำว่า หากได้เข้ารับการรรักษาริดสีดวงทวารแล้ว ผู้ป่วยก็ยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นได้อีก หากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อยู่ ดังนั้นหลังจากการรักษาแล้วหลังการรักษาแล้วต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วยจึงจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก ************************************************************************** สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมายพบแพทย์ กรุณาติดต่อ :  คลินิกศัลยกรรมทั่วไป ชั้น 1 โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน โทร. 032-616-833 หรือ Call Center โทร. 032-616-800