“ไส้เลื่อน” อย่าปล่อยไว้ อันตรายกว่าที่คิด !
            ไส้เลื่อน คือ ภาวะที่อวัยวะภายในช่องท้องเคลื่อนที่ผ่านช่องทางผิดปกติไปยังตำแหน่งอื่น อวัยวะดังกล่าวนี้ อาจะเป็นเพียงบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ ที่พบบ่อยได้แก่ ลำไส้ (Bowel) แผ่นไขมันในช่องท้อง (Omentum) ในส่วนของช่องทางผิดปกตินั้น อาจจะเป็นช่องทางที่มีมาตามธรรมชาติแต่ควรจะปิดเองเมื่อกำเนิด หรือเกิดขึ้นมาภายหลังก็ได้ สามารถเกิดที่ใดก็ได้ตั้งแต่กระบังลมลงมาถึงขาหนีบ ซึ่งหากเกิดภาวะดังกล่าวแล้วผู้ป่วยมักจะคลำก้อนได้ในบริเวณที่เกิดไส้เลื่อน หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษา มีโอกาสที่อวัยวะภายในที่ออกมาจะติดค้างในช่องทางผิดปกตินี้ (Incarcerated Hernia) และเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นลำไส้อุดตัน (Bowel Obstruction) หรือลำไส้ขาดเลือด (Strangulated Hernia) ซึ่งทำให้จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัดฉุกเฉิน             นพ.ณัฐพร นวลอุทัย ศัลยแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า ไส้เลื่อนสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่มักพบได้บ่อยในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในเด็กไส้เลื่อนมักจะเป็นตั้งแต่กำเนิดและสัมพันธ์กับรูเปิดธรรมชาติที่ปิดช้ากว่าปกติหรือเด็กที่คลอดก่อนกำหนด ต่างจากผู้ใหญ่ที่ไส้เลื่อนมักจะเกิดภายหลังโดยมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะที่ทำให้แรงดันในช่องท้องสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไอเรื้อรังจากโรคปอด โรคหลอดลมปอดอักเสบเรื้อรัง (Chronic Bronchitis) หรือถุงลมโป่งพอง (COPD) การยกของหนักเป็นประจำหรือออกกำลังกายอย่างหนัก การเบ่งถ่ายอุจจาระจากภาวะท้องผูกเรื้อรังหรือเบ่งปัสสาวะจากโรคต่อมลูกหมากโต ภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน การตั้งครรภ์ รวมไปถึงภาวะที่มีน้ำในช่องท้องจากโรคตับ ชนิดของโรคไส้เลื่อน ไส้เลื่อนมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่พบ ได้แก่
  1. ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (Inguinal Hernias) เกิดขึ้นบริเวณขาหนีบหรือง่ามขา เป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มักพบบ่อยในผู้ชาย หากเป็นมากๆ อาจพบไส้เลื่อนลงอัณฑะ (Scrotal Hernia)
  2. ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ (Umbilical Hernias) พบได้บ่อยในเด็ก เกิดจากรูเปิดผนังหน้าท้องบริเวณสะดือยังปิดไม่สนิท ซึ่งจะหายได้เองเมื่อผนังหน้าท้องแข็งแรงขึ้น
  3. ไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัด (Incisional Hernia) เกิดในผู้ที่เคยรับการผ่าตัดภายในช่องท้องมาก่อน เป็นผลจากซ่อมแซมในส่วนใต้ผิวหนังที่ไม่สมบูรณ์และกล้ามเนื้อผนังหน้าท้องอ่อนแอลง ส่งผลให้อวัยวะภายในคลื่อนตัวดันออกมาเป็นก้อนโป่งบริเวณแผลผ่าตัด
  4. ไส้เลื่อนช่องท้อง (Ventral Hernia) มักเกิดขึ้นเองในบริเวณผนังช่องท้องที่อ่อนแอ ทำให้อวัยวะภายในเคลื่อนตัวดันผ่านกล้ามเนื้อหน้าท้อง มีหลายชื่อเรียกเฉพาะตามตำแหน่งที่เกิด เช่น Spigelian Hernia, Epigastric Hernia
  5. ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (Femoral Hernia) เป็นไส้เลื่อนที่พบได้น้อย แต่พบในเพศหญิงได้มากกว่าเพศชาย จะเกิดในบริเวณต้นขาด้านในต่ำกว่าระดับขาหนีบที่เรียกว่า Femoral Canal
  6. ไส้เลื่อนภายในอุ้งเชิงกราน (Obturator Hernia) เป็นไส้เลื่อนที่พบได้น้อยมากแต่มีความรุนแรงมากเนื่องจากมักทำให้ผู้ป่วยมีภาวะลำไส้อุดตัน การวินิจฉัยจากการตรวจร่างกายทำได้ยากต้องอาศัยการส่งตรวจเช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง ไส้เลื่อนชนิดนี้มักพบในผู้หญิงสูงวัยที่มีรูปร่างผอม
  7. ไส้เลื่อนกระบังลม (Diaphragmatic Hernia) เกิดจากมีช่องทางผิดปกติที่กระบังลมทำให้อวัยวะภายในช่องท้องเคลื่อนสู่ช่องปอด อาจพบแต่กำเนิดหรือภายหลังการเกิดอุบัติเหตุที่มีการบาดเจ็บของกระบังลมก็ได้
อาการและการวินิจฉัยของโรคไส้เลื่อน              อาการของไส้เลื่อนมักเกิดในบริเวณที่เกิดโรค โดยอาจเริ่มจากมีอาการไม่สุขสบาย หรือปวดหน่วงๆ คลำก้อนนุ่มๆ ได้เวลาเบ่งไอ จาม ก้อนมักจะหายไปเมื่อนอนราบ หากเป็นนานๆ ก้อนอาจจะออกมาค้างในบริเวณนั้นและไม่หายไป อาการของผู้ป่วยไส้เลื่อนที่สงสัยว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ได้แก่ ปวดบริเวณที่เป็นก้อนไส้เลื่อนไม่สามารถดันกลับได้ ปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน ไม่ถ่ายอุจจาระหรือผายลม ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ทันที              สำหรับไส้เลื่อนกระบังลม อาจมีอาการแตกต่างออกไป ผู้ป่วยอาจมีอาการจุกแน่นหน้าอกเหมือนกรดไหลย้อน หายใจไม่สะดวก หรือรู้สึกกลืนลำบาก              การวินิจฉัยโรคไส้เลื่อนขึ้นอยู่กับบริเวณช่องทางผิดปกติของไส้เลื่อน หากเป็นตำแหน่งผนังหน้าท้องอาจใช้เพียงการตรวจร่างกายของแพทย์เท่านั้น สำหรับไส้เลื่อนในบริเวณที่ลึก หรือผู้ป่วยมีผนังหน้าท้องหนา อาจจำเป็นต้องได้รับการส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อช่วยการวินิจฉัย การรักษาไส้เลื่อน              ปัจจุบันการรักษาหลักของโรคไส้เลื่อนคือการผ่าตัด การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด โดยเฝ้าดูอาการและรักษาตามอาการมีที่ใช้อย่างระมัดระวังเฉพาะในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น วิธีการผ่าตัดมาตรฐานในปัจจุบันเป็นการผ่าตัดซ่อมไส้เลื่อนด้วยการใส่ตาข่าย (Surgical Mesh) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและลดอัตราการเป็นซ้ำ ปัจจุบันมีด้วยกัน 2 เทคนิค ได้แก่
  1. การผ่าตัดแบบเปฺิดหน้าท้อง (Open Surgery) เป็นการผ่าตัดเปิดผิวหนังบริเวณไส้เลื่อนเพื่อปิดหรือซ่อมแซมบริเวณที่อ่อนแอ และทำการใส่ตาข่ายทับจากด้านนอก การผ่าตัดวิธีนี้ผู้ป่วยอาจจะต้องใช้เวลาพักฟื้นนานกว่าและมีอาการเจ็บแผลมากกว่า แต่ก็มีข้อดีในผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการระงับความรู้สึกด้วยการดมยาสลบ (General Anesthesia) เนื่องจากการผ่าตัดเทคนิคนี้สามารถทำภายใต้การระงับความรู้สึกด้วยยาชาเฉพาะที่ (Local Anesthesia) หรือเฉพาะส่วนได้ (Regional Anesthesia)
  2. การผ่าตัดแบบผ่านกล้องแผลเล็ก (Laparoscopic Surgery) เป็นการผ่าตัดผ่านการเจาะรูขนาดเล็กที่ผนังหน้าท้องและซ่อมไส้เลื่อนด้วยตาข่ายจากภายใน ข้อดีของการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบผ่านกล้องคือผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวเร็วกว่าและมีอาการเจ็บปวดแผลน้อยกว่า เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง หรือการบอบช้ำหลังผ่าตัด ซึ่งส่งผลทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานหรือใช้ชีวิตปกติได้รวดเร็วกว่า ในปัจจุบันการผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้กำลังจะกลายเป็นการรักษามาตรฐานของการผ่าตัดไส้เลื่อน แต่อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้อาจจะมีข้อจำกัดในผู้ป่วยที่ไม่สามารถระงับความรู้สึกด้วยวิธีดมยาสลบได้ สำหรับผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อน หรือไส้เลื่อนมีขนาดใหญ่มาก ควรปรึกษากับศัลยแพทย์เพื่อร่วมกันวางแผนการผ่าตัดอย่างเหมาะสมและปลอดภัย
            “ความเร่งด่วนของการรักษาไส้เลื่อนขึ้นอยู่กับชนิดและอาการ ไม่ควรละเลยและปล่อยทิ้งไว้นานเนื่องอาจทำให้การรักษายากมากขึ้น รวมทั้งเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นไส้เลื่อนติดคา หรือถูกบีบรัดจนขาดเลือดไหลเวียนอวัยวะภายใน ซึ่งอาจทำให้อันตรายและต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีไส้เลื่อนทุกคนควรทำการรักษา หรือแก้ไขปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ควบคู่กันไปด้วยเพื่อให้ผลของการรักษาดีที่สุด ไส้เลื่อนสามารถพบได้ทั้งชาย หญิง และทุกวัย ทุกคนจึงควรหมั่นสังเกตตัวเอง หากเกิดอาการผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์ทำการรักษาที่เหมาะสมและป้องกันภาวะแทรกซ้อน” นพ.ณัฐพร กล่าวทิ้งท้าย ************************************************************************** สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ : โทร. 032-616-833 แผนกศัลยกรรมทั่วไป ชั้น 1 (8.00 – 17.00 น.) โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน Email: [email protected]