ใครบ้าง...เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองแตก-ตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต
โรคหลอดเลือดสมองแตก-ตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือที่เรียกว่า สโตรค (Stroke) นั้นเป็นสาเหตุของความพิการและการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากการที่หลอดเลือดซึ่งพาออกซิเจนไปเลี้ยงสมองอุดตัน ทำให้สมองขาดออกซิเจน และเกิดความเสียหายส่งผลกระทบต่อการพูด และการเคลื่อนไหวของร่างกาย อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ในกรณีที่รุนแรง
นพ.ภาณุมาศ ปิยะเวชวิรัตน์ ผู้อำนวยการแผนกศัลยกรรมระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า ปัจจุบันผู้คนจะตื่นตัวหันมารักษาสุขภาพกันมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะรู้จักการป้องกันและอันตรายของโรคต่างๆ เพียงผิวเผิน รวมถึงโรคที่นำพาความทรมานอย่างยิ่งยวดมาสู่ชีวิตอย่างโรคหลอดเลือดในสมองอุดตัน ซึ่งเป็นโรคที่ปรากฏอาการอย่างฉับพลัน ควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที ความพิการที่จะเกิดขึ้นจากโรคนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาตั้งแต่เริ่มมีอาการจนได้รับการรักษาที่ถูกวิธีและปริมาณความเสียหายของเนื้อสมอง เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนมีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงแตกต่างกัน และความผิดปกติหลอดเลือดสมองก็มีขนาดต่างๆ กัน อาการของผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่หลอดเลือดเกิดการตีบหรือตันในสมอง และขนาดของหลอดเลือดที่ตีบหรือตันว่าเป็นหลอดเลือดขนาดใหญ่หรือเล็ก โดยแบ่งระดับความรุนแรงของโรคเส้นเลือดในสมองอุดตันได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้
- อาการน้อย ได้แก่ กลุ่มของผู้ที่มีหลอดเลือดในสมองแตก หรือตีบ หรือตัน เป็นหลอดเลือดขนาดเล็ก ยังไม่เกิดการทำลายของเซลล์สมองในบริเวณนั้น สมองขาดเลือดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทำให้เกิดอาการซึ่งอาจเป็นวินาที นาที หรือชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ลักษณะอาการประกอบด้วย กล้ามเนื้ออ่อนแรงไปครึ่งซีกของลำตัว โดยอาจเป็นที่แขนอย่างเดียว ขาอย่างเดียว ก็ได้ การเคลื่อนไหวช้าลง เดินเซ ที่ใบหน้าจะเห็นมุมปากตก อมน้ำไว้ในปากไม่ได้ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ความจำเสื่อมชั่วขณะ คิดอะไรไม่ออก เป็นต้น
- อาการปานกลาง (อัมพฤกษ์)ได้แก่ กลุ่มของผู้ที่เซลล์สมองถูกทำลายไปแล้วบางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด ภายหลังการรักษาแล้ว อาการอาจดีขึ้นเรื่อยๆ ภายใน 3-6 เดือน อาการมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด นอกจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงแล้ว ผู้ป่วยอาจสูญเสียการทรงตัว มีอาการชาไปครึ่งซีก ตามองเห็นไม่ชัด หรือมืดไปข้างหนึ่ง เห็นภาพซ้อน เวียนศีรษะ พูดไม่ออก สูญเสียความทรงจำและความสามารถในด้านการคิดคำนวณ การตัดสินใจ พูดอย่างตอบอย่าง และมักมีอาการทางอารมณ์ร่วมด้วย เช่น ซึมเศร้า หรือหงุดหงิดมากกว่าปกติจากความพิการที่เกิดขึ้น
- อาการรุนแรง (อัมพาต) ได้แก่ กลุ่มของผู้ที่เซลล์สมองถูกทำลายโดยถาวร จะเกิดการอ่อนแรงของแขนและขา ขยับแขนหรือขาเองไม่ได้ เป็นอัมพาตครึ่งซีก สูญเสียการทรงตัว พูดไม่ได้ หรือเปล่งเสียงออกมาจากลำคอไม่ได้ กล้ามเนื้อหน้าทำงานไม่เท่ากัน หนังตาตก กลอกตาไม่ได้ กลืนอาหารลำบาก ปฏิกิริยาตอบสนองช้า สูญเสียความทรงจำ เป็นต้น
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวาน
- โรคหัวใจ
- การสูบบุหรี่
- ภาวะที่มีไขมันหรือคอเลสเทอรอลสูงในหลอดเลือด ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เป็นอัมพาตในเวลาต่อมา
- ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณสูงมากเกินไป
- ขาดการออกกำลังกาย เกิดภาวะเครียดและโรคอ้วน
- ฮอร์โมน ยังไม่พบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างชัดเจน ยกเว้นผู้หญิงที่รับประทานฮอร์โมนในปริมาณสูงร่วมกับมีความดันโลหิตสูงหรือสูบบุหรี่ร่วมด้วย