โรคคาวาซากิ… ภัยเงียบที่ส่งผลต่อหัวใจเด็ก
โรคคาวาซากิ เป็นหนึ่งในโรคที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบหลอดเลือดหัวใจในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในหลอดเลือดหัวใจและอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นการที่พ่อแม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ จะช่วยในการสังเกตอาการและพาบุตรหลานไปรับการรักษาได้ทันเวลา ซึ่งอาจลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับหัวใจของเด็กได้ นพ. อนุสรณ์ ศรินโรจน์ กุมารแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า โรคคาวาซากิ เกิดจากการอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด และไม่สัมพันธ์กับฤดูกาล จากการศึกษาในปัจจุบันชี้ว่าโรคนี้มีความเกี่ยวข้องกับการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด อาการที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวังของโรคคาวาซากิ คือมักเริ่มต้นด้วยไข้สูงเกิน 5 วันและไม่ตอบสนองต่อยาลดไข้ทั่วไป ร่วมกับอาการบ่งชี้ที่สังเกตได้ เช่น ตาขาวอักเสบแดงโดยไม่มีขี้ตา ริมฝีปากแห้งแตกและลิ้นแดงจัดคล้ายลิ้นสตรอว์เบอร์รี มือและเท้าบวมแดงหรือเริ่มลอก ผื่นขึ้นตามลำตัว แขนขา และข้อต่อบวม ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณคอ การวินิจฉัยโรคคาวาซากิ หากผู้ปกครองสังเกตว่าเด็กมีไข้สูงเป็นเวลานาน และมีอาการร่วมดังข้างต้นนี้ การรีบพามาเด็กมาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ จะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เด็กได้รับการดูแลรักษาได้ทันเวลา ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อหลอดเลือดหัวใจได้อย่างมาก เพราะเมื่อมีการอักเสบที่ของหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี อาจทำให้หลอดเลือดหัวใจมีลักษณะโป่งพอง ตีบ หรือแคบได้ ส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย หรือหัวใจทำงานล้มเหลว ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นการวินิจฉัยและการรักษาในระยะแรกเริ่มจะช่วยลดความเสี่ยงและช่วยให้เด็กฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการวินิจฉัยโรคคาวาซากิไม่สามารถใช้การตรวจเลือดหรือตรวจพิเศษเพียงอย่างเดียวได้ แพทย์จะประเมินอาการและอาการแสดงของผู้ป่วยร่วมกับการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG  การถ่ายภาพเอกซเรย์ทรวงอก และการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือที่เรียกว่าการทำเอคโคหัวใจ (Echocardiogram) เพื่อดูว่ามีการอักเสบในหลอดเลือดหัวใจหรือไม่ รวมถึงประเมินลักษณะของหลอดเลือดหัวใจ ลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ และการทำงานของหัวใจ เพื่อช่วยประกอบการวินิจฉัย การรักษาและการดูแล เมื่อพบว่าเด็กเป็นโรคคาวาซากิ ควรได้รับการรักษาภายใน 10 วัน หรือเร็วที่สุด สำหรับการรักษาโรคคาวาซากิจะเน้นที่การลดการอักเสบของหลอดเลือด โดยใช้ยากลุ่ม Immunoglobulin และยาต้านการอักเสบอย่างแอสไพริน เพื่อลดการอักเสบและลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนในหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งการรักษาตั้งแต่ในช่วงแรกเริ่มสามารถช่วยลดโอกาสของภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับหัวใจในเด็ก และเด็กส่วนใหญ่สามารถฟื้นตัวและกลับมาแข็งแรงได้ แต่อาจต้องติดตามสุขภาพหัวใจในระยะยาว การดูแลและติดตามอาการในระยะยาว แม้ว่าเด็กที่ผ่านการรักษาจะมีโอกาสหายเป็นปกติได้ แต่บางกรณีอาจต้องมีการติดตามสุขภาพหัวใจในระยะยาวเพื่อประเมินความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนในอนาคต เช่น หลอดเลือดหัวใจโป่งพอง ดังนั้นผู้ปกครองควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้และเข้าพบแพทย์ตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าโรคคาวาซากิอาจไม่ใช่โรคที่พบบ่อยในเด็ก แต่เป็นโรคที่ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด อีกทั้งเด็กที่เคยเป็นแล้วสามารถเกิดเป็นซ้ำได้ และไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นการที่พ่อแม่สังเกตอาการของลูกน้อยได้อย่างรวดเร็ว รู้ทันเกี่ยวกับอาการและรีบพามารักษา จะช่วยให้พ่อแม่สามารถเฝ้าระวังและดูแลลูกหลานได้อย่างมั่นใจ เพราะเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้หากได้รับการรักษาในเวลาที่เหมาะสมและถูกต้องโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ จะสามารถหายได้ และลดความเสี่ยงต่อสุขภาพหัวใจของเด็กในอนาคต” นพ.อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้าย ************************************************************************** สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมายพบแพทย์ กรุณาติดต่อ : โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน โทร. 032-616-883 แผนกกุมารเวช (8.00 – 17.00 น.) ข่าวสาร & โปรโมชั่น >> Line : @bangkokhuahin