ข้อเข่า ข้อสะโพกเสื่อม...รักษาได้
กรณีข้อเข่าเสื่อมตามวัยมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในคนที่มีน้ำหนักมากเกิน ทำให้น้ำหนักลงที่หัวเข่ามากและไม่สมดุล จนเกิดการเสื่อมได้ง่ายกว่าคนทั่ว ๆ ไป ขณะที่ผู้ชายมักเกิดจากการเล่นกีฬา อุบัติเหตุ หรือจากการรับประทานยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน
นพ. ธนวรรธน์ กล่าวว่า อาการข้อเสื่อมมักสร้างความรำคาญให้กับผู้ป่วย โดยเฉพาะอาการปวดบวม ร้อนที่บริเวณผิวข้อเข่า ซึ่งแสดงถึงภาวะอักเสบของเยื้อหุ้มภายในข้อเข่า จึงเกิดการผลิตน้ำเมือกที่มากผิดปกติ และเป็นน้ำที่ไม่ดี อาจทำให้เกิดภาวะอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสองข้างพร้อมกัน แต่เมื่อข้างหนึ่งเสื่อม อีกข้างมักจะเสื่อมตามมา หากผู้ป่วยได้รับการรักษาในระยะแรกอย่างถูกต้องก็มีโอกาสที่จะชะลอความเสื่อมได้เร็วขึ้น
ตามหลักการข้อเสื่อมแบ่งออกเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 เริ่มจากการมีร่องรอยที่ผิวข้อกระดูกอ่อนเล็กน้อย อาจมีเสียงดังในการเคลื่อนไหวข้อ หรือเริ่มมีการติดขัดในการเคลื่อนไหวเล็กน้อย โดยที่ยังไม่มีอาการปวด
ระยะที่ 2 ผิวข้อเริ่มสึก เมื่อเอกซเรย์ดูอาจเริ่มเห็นร่องรอยของการเสื่อมของผิวข้อ
ระยะที่ 3 ผิวข้อเริ่มขรุขระมากขึ้น กระดูกอ่อนเริ่มสึกกร่อนบางลง
ระยะที่ 4 ข้อสึกทั่วข้อเข่า จนเริ่มมีการผิดรูปให้เห็น ผู้ป่วยจะทรมานมาก ส่วนใหญ่ระยะ 4 จะจบลงด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อ
ส่วนอาการข้อสะโพกเสื่อมมีลักษณะคล้ายกันคือ เจ็บขัด ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์และมักพบในคนยุโรป ขณะที่คนเอเชียและตะวันออกกลางมักจะพบข้อเข่าเสื่อมมากกว่า เนื่องจากวัฒนธรรมในการใช้ชีวิต เพราะนิยมคุกเข่านั่งกับพื้น ไหว้พระ สวดมนต์ ซึ่งเป็นตามธรรมชาติ ขณะที่ข้อสะโพกเสื่อมมักเกิดจากโรค เช่น สะเก็ดเงิน รูมาตอยด์ โรคขาดเลือดไปเลี้ยงที่กระดูกสะโพกทำให้กระดูกตาย
แนวทางการรักษาในแต่ละระยะของอาการเสื่อมไม่เหมือนกัน แต่เป้าหมายแรกคือการแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยทุเลาจากอาการเจ็บและบวมก่อน จากนั้นดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ถ้าเป็นในระยะแรก แนะนำให้ผู้ป่วยรู้จักวิธีดูแลตนเองไม่ให้อาการเหล่านั้นกลับมา โดยเฉพาะการควบคุมน้ำหนักตัว และบางครั้งอาจต้องใช้ยาในการรักษาอาการร่วมด้วยในระยะแรกและระยะสอง แต่ถ้าเป็นระยะสามที่ข้อสึก เริ่มมีกระดูกงอก การรับประทานยาจะช่วยไม่ได้มากนัก ส่วนระยะที่สี่ควรได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขข้อเสื่อมที่ผิดรูป
“กรณีผู้ป่วยอยู่ในระยะแรก หรือระยะที่สอง แต่ขาเริ่มโก่ง อายุคนไข้ยังไม่มาก หากปล่อยทิ้งไว้อาการอาจรุนแรงเข้าสู่ระยะสามและสี่ มีความจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด ซึ่งมี 2 แนวทางคือ การผ่าตัดแบบเก็บข้อเอาไว้ เรียกว่า ‘Joint Preservation’ ถ้าผ่าตัดแบบเปลี่ยนข้อเทียมเรียกว่า ‘Joint Replacement’ ซึ่งต้องดูว่าคนไข้แต่ละรายควรใช้วิธีการผ่าตัดแบบไหนเหมาะสมที่สุด โดยแพทย์จะทำหน้าที่วางแผนในการผ่าตัดให้คนไข้แต่ละราย”
สำหรับอายุการใช้งานของข้อเทียมเฉลี่ยอยู่ที่ 12 – 15 ปี ส่วนประกอบของข้อเทียมใช้โลหะเป็นฐาน มีพลาสติกอยู่ตรงกลาง ส่วนโลหะผิวสัมผัสแตกต่างกันในแต่ละรุ่น อาจเป็นโลหะธรรมดา หรือโลหะที่ออกแบบมาใช้งานเพื่อป้องกันการสึกหรอ วัสดุที่ใช้กับหัวเข่าส่วนใหญ่จะเป็นโลหะขัดมันกับพลาสติก ในส่วนของข้อสะโพกจะมีตัวที่เปลี่ยนก็คือตัวเบ้าใช้พลาสติก ส่วนหัวมีให้เลือกทั้งแบบที่ทำมาจากโลหะและเซรามิค ที่มีข้อดีคือ แรงเสียดทานที่พื้นผิวสัมผัสวัสดุน้อยกว่า จึงมีคุณสมบัติลื่นมากกว่าโลหะผสมขัดมัน ทำให้ทนทานต่อการสึกหรอได้มากกว่า
“ความคงทนของข้อเข่าหรือข้อสะโพกเทียมที่ใส่เข้าไปนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็น สภาพร่างกาย ระดับกิจกรรมที่ทำ น้ำหนักตัว หากผู้ป่วยไม่ได้ใช้งานมันอย่างหักโหมก็จะสามารถอยู่ได้นาน ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละคน”
โดยการผ่าตัดใส่ข้อเทียมหรือผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและสะโพกนั้นแพทย์จะใช้เวลาประมาณ 2 – 2 ½ ชั่งโมง ซึ่งเมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วคนไข้จะใช้เวลาในการนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลไม่นาน ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
…………………………………………………………………………………………….
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ :
โทร. 032-616-832 คลินิกกระดูกและข้อ ชั้น 1 (8.00 – 17.00 น.)
โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน


