"มะเร็งปอด" ตรวจรู้ไว...รักษาได้
โรคมะเร็งปอดเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าเป็นโรคนี้จะอยู่ในระยะที่ 4 ซึ่งก้อนมะเร็งจะมีขนาดใหญ่ หรือระยะกระจายไปยังบริเวณต่างๆ ของร่างกายแล้ว ส่งผลให้มีอัตราการเสียชีวิตสูง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ช่วยให้สามารถตรวจพบและวินิจฉัยมะเร็งปอดได้เร็วขึ้นตั้งแต่ในระยะต้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้เร็วและมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้
นพ.ศิริชัย แสงงามมงคล อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า สาเหตุของโรคมะเร็งปอด มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดโรคนี้ อาทิ การสูบบุหรี่ ผู้ที่รับควันบุหรี่มือสอง การสัมผัสสารเคมี สารพิษ และผู้ที่มีประวัติครอบครัวเคยเป็นมะเร็งปอด ซึ่งโรคมะเร็งสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้
สัญญาณและอาการของโรคมะเร็งปอด มะเร็งคือโรคของการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ ซึ่งสามารถกระจายจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดอื่นๆ ของร่างกาย มะเร็งปอดเกิดขึ้นในส่วนของระบบทางเดินหายใจ ความน่ากลัวของโรคนี้คือจะไม่แสดงอาการชัดเจนในระยะต้น โดยผู้ที่มีก้อนขนาดใหญ่ที่แสดงอาการ อาการที่มักพบบ่อยคือ ไอเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะปนเลือดสดหรือลิ่มเลือด มีอาการหายใจลำบาก หอบเหนื่อย หายใจสั้น เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน เจ็บหน้าอกและหลัง เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ
เนื่องจากมะเร็งปอดมักไม่แสดงอาการชัดเจนในระยะต้น ดังนั้นหากทำการตรวจพบโรคมะเร็งปอดตั้งแต่ในระยะต้น ก่อนที่มีอาการมาก และรีบเข้ารับการรักษา จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตหรือรักษาให้หายขาดได้
การตรวจโรคมะเร็งปอด มีหลายวิธี ซึ่งบางคนอาจจะเข้าใจผิดว่าการตรวจเอกซเรย์ทรวงอก (Chest Xray) เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด แต่ที่จริงแล้วเป็นการตรวจคัดกรองวัณโรคปอด สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด สามารถทำได้โดยใช้การฉายรังสีด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วยปริมาณรังสีต่ำ ให้ภาพ 3 มิติที่ให้รายละเอียดได้ดีในบริเวณปอด หรือที่เรียกว่า Low-Dose CT Scan (Low-Dose Computerized Tomography) เป็นวิธีที่ทันสมัยและสามารถตรวจคัดกรองโรคได้ดีกว่าเอกซเรย์ปอด ทำให้มีโอกาสรักษาที่เหมาะสมมากขึ้น ในบางรายแพทย์อาจแนะนำผู้ป่วยเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เช่น การตรวจชิ้นเนื้อด้วยเข็มชนิดพิเศษ โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในการระบุตำแหน่ง (CT – Guided Biopsy) การส่องกล้องตรวจภายในหลอดลม (Bronchoscopy) หรือการตรวจด้วยเครื่อง PET Scan (Positron Emission Tomography) ซึ่งช่วยให้สามารถเพิ่มโอกาสตรวจพบและวินิจฉัยมะเร็งปอดได้ตั้งแต่เป็นในระยะที่ 1 หรือ 2 ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับการรักษาให้หายขาดได้
การรักษามะเร็งปอด ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ได้แก่ การผ่าตัดแบบส่องกล้อง หรือการผ่าตัดแบบเปิดช่องอก การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) การใช้รังสี หรือการฉายแสง (Radiotherapy) การรักษาด้วยยาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) หรือการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) โดยผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาด้วยวิธีใดนั้น จะขึ้นอยู่กับขนาดและลักษณะของมะเร็ง อายุของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป ตลอดจนการตัดสินใจร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัว
การป้องกันมะเร็งปอด ปัจจุบันแม้ยังไม่มีวิธีที่ป้องกันมะเร็งปอดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดได้โดยการหลีกเลี่ยงสารพิษที่สามารถทำให้เกิดมะเร็ง การเลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง ควันมลพิษ สารระเหยต่างๆ สารโลหะหนัก และการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรักษาสุขภาพด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งรวมถึงการดูแลสุขภาพจิตใจและการลดความเครียดด้วย
“การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจมะเร็งปอดหรือการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อดูแลให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ที่สำคัญคือการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด ทั้งกับตัวคุณเองและคนรอบข้าง นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันช่วยให้ทำการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดได้เร็วขึ้นและแม่นยำขึ้น หากท่านที่มีความเสี่ยง แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดด้วยวิธีที่เหมาะสม ซึ่งถ้าหากเกิดความผิดปกติก็จะช่วยได้รู้เร็วและทำให้มีโอกาสเข้ารับรักษาโรคตั้งแต่ระยะต้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น” นพ.ศิริชัย กล่าวทิ้งท้าย
**************************************************************************
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมายพบแพทย์ กรุณาติดต่อ :
โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน
โทร. 032-616-880 (7.00 – 19.00 น.) แผนกบริการผู้ป่วยนอก/อายุรกรรม ชั้น 1
ข่าวสาร & โปรโมชั่น >> Line ID : @bangkokhuahin