“เมตาบอลิคซินโดรม” อ้วนลงพุง…เสี่ยงโรคร้าย
ปัญหาอ้วนลงพุง รอบเอวที่หนาเกินไป เป็นสัญญาณเตือนของภาวะเมตาบอลิคซินโดรม (Metabolic Syndrome) ที่นำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ มากมาย โดยคนอ้วนมีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้ถึงร้อยละ 25 ดังนั้นการรู้เท่าทันสาเหตุ หมั่นสังเกตตัวเอง จะช่วยให้ห่างไกลโรคอ้วน และลดความเสี่ยงจากภาวะนี้ได้
นพ. กิตติพงศ์ สุขุม อายุรแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า ภาวะเมตาบอลิคซินโดรม เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลและไขมันได้อย่างเหมาะสม หรือภาวะที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารของร่างกายที่ผิดปกติไป ซึ่งจะทำให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง แล้วสะสมจนมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาวได้มากมาย อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง และส่งผลให้มีปัญหาต่อหลอดเลือดและหัวใจ เกิดหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบตัน อัมพาต (Stroke) เมื่อไขมันสะสมมากขึ้นจนถึงระดับที่เรียกว่าโรคอ้วน (Morbid Obesity) อาจจะมีผลกระทบต่อการหายใจที่เรียกว่า Obstructive Sleep Apnea (OSA) เป็นภาวะที่เกิดการเจ็บป่วยรุนแรงง่ายกว่าคนทั่วไป และมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า
สาเหตุของภาวะเมตาบอลิคซินโดรม
สาเหตุหลัก ได้แก่ โรคอ้วน ภาวะเมตาบอลิคซินโดรมมักพบในผู้ป่วยที่มีการสะสมของไขมันในช่องท้องมากเกินไป หรือที่เรียกว่า อ้วนลงพุง (Central Obesity) ไขมันเหล่านี้จะทำให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบ มีสมดุลของฮอร์โมนที่ผิดปกติ และการออกฤทธิ์ของอินซูลินทำได้ไม่ดี หรือที่เรียกว่าภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) เกิดได้ทั้งจากพันธุกรรมและสาเหตุภายนอก เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น ยาบางชนิด โดยคนที่อ้วนลงพุงจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากกว่าคนที่อ้วนบริเวณสะโพก
ซึ่งภาวะเมตาบอลิคซินโดรม สามารถเกิดจากพฤติกรรมการดื่ม และการกินอาหารที่ไม่ดี ขาดการออกกำลังกาย อดนอน หรือเกิดจากกรรมพันธุ์ โดยผู้ที่มีพ่อแม่มีภาวะนี้ ก็จะมีความเสี่ยงสูงไปด้วย
การตรวจวินิจฉัย
สามารถวินิจฉัยภาวะอ้วนลงพุงได้ด้วยการเทียบเส้นรอบเอว (ระดับสะดือ) กับส่วนสูงหารด้วย 2 ถ้าเส้นรอบเอวมีค่ามากกว่า ถือว่ามีภาวะอ้วนลงพุง เช่น ส่วนสูง 160 เซนติเมตร วัดรอบเอวได้ 80.5 เซนติเมตร ถือว่าเริ่มมีภาวะอ้วนลงพุงแล้ว
นอกจากการวัดรอบเอวแล้ว แพทย์จะประเมินร่วมกับการมีความผิดปกติในปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้หากมีมากกว่า 2 ข้อขึ้นไป ได้แก่
- ระดับน้ำตาลหลังอดอาหารมากกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
- ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง
- พบภาวะไขมันในเลือด ไตรกลีเซอไรด์หรือคอเลสเตอรอลผิดปกติ