การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช
ปัจจุบันการผ่าตัดรักษาโรคทางนรีเวช สูตินรีแพทย์นิยมใช้การผ่าตัดผ่านกล้อง เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่บอบช้ำน้อย แผลมีขนาดเล็กทำให้เจ็บปวดน้อย ดูแลง่าย แผลหายเร็ว เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย อยู่โรงพยาบาลน้อยวัน และฟื้นตัวได้เร็ว สามารถลุกเดินได้ภายใน 1 วันหลังการผ่าตัด สามารถปฏิบัติกิจวัตรส่วนตัวได้ด้วยตนเอง กลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็ว
พญ. ภัทรพร ตั้งกีรติชัย สูตินรีแพทย์ เฉพาะทางเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า การผ่าตัดผ่านกล้องสามารถช่วยในรายละเอียดได้ดีกว่าผ่าตัดธรรมดา หรือการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง เพราะกล้องสามารถขยายภาพได้ใหญ่กว่าจริงได้ และช่วยวินิจฉัยโรคทางนรีเวชที่การตรวจร่างกายและตรวจภายใน การทำ CT scan หรือ MRI ไม่สามารถวินิจฉัยได้ และสามารถทำการรักษาได้ด้วยในคราวเดียว
อีกทั้งการผ่าตัดผ่านกล้อง ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดชนิดแรง หลังผ่าตัดเมื่อรู้สึกตัวดีและไม่คลื่นไส้อาเจียน สามารถรับประทานอาหารอ่อนและยาแก้ปวดธรรมดาได้ตามต้องการ และมีความสะดวกปลอดภัยสูงกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง โดยบางรายผู้ป่วยเสียเลือดขณะผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ลดโอกาสการต้องรับเลือดหลังผ่าตัด โอกาสที่แผลผ่าตัดจะติดเชื้อต่ำกว่าวิธีผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง การเกิดพังผืดและภาวะแทรกซ้อนจากพังผืดหลังผ่าตัดพบน้อยกว่าวิธีผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง และอีกคำถามที่พบบ่อย สำหรับผู้ป่วยยังโสดหรือไม่เคยมีบุตรมาก่อน ก็สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องได้
ขั้นตอนการผ่าตัดผ่านกล้อง
ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดภายใต้การดมยาสลบร่วมกับใส่ท่อช่วยหายใจโดยวิสัญญีแพทย์ การผ่าตัดผ่านกล้องเป็นการผ่าตัดโดยการเติมแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เข้าในช่องท้อง ใช้ชุดเครื่องมือผ่าตัดชนิดพิเศษร่วมกับกล้องวิดีโอส่องผ่าตัด สอดเข้าไปในช่องท้อง โดยมีแผลผ่าตัดขนาดเล็กจำนวน 2 – 4 แผล ขนาด 5 – 10 มิลลิเมตร กล้องวิดีโอจะทำหน้าที่นำภาพอวัยวะในช่องท้องที่มีความคมชัด ความละเอียดสูง ถ่ายทอดออกมาให้แพทย์ได้เห็นทางจอโทรทัศน์ และแพทย์จะทำการผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือต่างๆ ผ่าตัดมดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ เป็นต้น
โรคทางนรีเวชที่สามารถใช้วิธีผ่าตัดผ่านกล้อง
ถุงน้ำในรังไข่ หรือเนื้องอกรังไข่บางชนิด เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ปวดท้องน้อยเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ ภาวะพังผืดในอุ้งเชิงกราน การตั้งครรภ์นอกมดลูก รักษาภาวะมีบุตรยาก โรคมะเร็งทางนรีเวชบางชนิด เช่น มะเร็งโพรงมดลูกระยะเริ่มต้น
การผ่าตัดส่องกล้องในโพรงมดลูกต่างจากส่องกล้องทางหน้าท้องอย่างไร
การผ่าตัดส่องกล้องในโพรงมดลูก สามารถรักษาได้ในรายที่มีรอยโรคอยู่เฉพาะภายในโพรงมดลูก เช่น ติ่งเนื้อ พังผืด หรือเนื้องอกที่อยู่เฉพาะในโพรงมดลูก ซึ่งการผ่าตัดลักษณะนี้แพทย์จะทำการผ่าตัดโดยการใส่กล้องผ่านทางช่องคลอด ใส่น้ำเกลือไปในโพรงมดลูกและทำการผ่าตัด กรณีนี้จะไม่มีแผลทางหน้าท้อง ส่วนมากจะฟื้นตัวเร็ว นอนโรงพยาบาล 1 วันก็สามารถกลับบ้านได้
ข้อจำกัดของการผ่าตัดผ่านกล้อง
การผ่าตัดผ่านกล้องอาจไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกราย เช่น ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่มาก มะเร็งนรีเวชบางประเภท ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น กระบังลมรั่ว โรคปอดหรือโรคหัวใจชนิดรุนแรง ผู้ป่วยมีพังผืดในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกรานชนิดรุนแรง เช่น ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคติดเชื้อในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกรานมาก่อน ผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดช่องท้องมาหลายครั้ง ในบางกรณีเมื่อส่องกล้องสำรวจในช่องท้อง หากพบว่าพยาธิสภาพของโรคเป็นรุนแรง เครื่องมือที่ใช้ไม่สามารถเข้าถึงจุดที่จะทำการผ่าตัดได้ หรือไม่สามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้จากพังผืดที่รุนแรงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีผ่าตัดเป็นแบบเปิดหน้าท้องแทน
หลังผ่าตัด ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดไหล่หน่วงๆ คล้ายปวดเมื่อย เนื่องจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เติมเข้าสู่ช่องท้องไปดันกระบังลม อาการเหล่านี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดและจะหายกลับเป็นปกติภายใน 1 – 2 วันหลังผ่าตัด
“ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องคือ แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว ผู้ป่วยที่ได้รับคำแนะนำในรับการรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง สูตินรีแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด และเลือกการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยให้ความรู้และอธิบายถึงตัวโรคให้ผู้ป่วยเข้าใจ มีการอธิบายข้อดี ข้อเสียของการผ่าตัด และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัด จากนั้นจะมีการเตรียมการร่วมกับผู้ป่วย มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การประเมินความเสี่ยงทางอายุรกรรมต่อการผ่าตัด การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด และวางแผนการผ่าตัดอย่างเหมาะสม และให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วย” พญ. ภัทรพร กล่าวทิ้งท้าย
**************************************************************************
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมายพบแพทย์ กรุณาติดต่อ :
โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน
โทร. 032-616-884 (8.00 – 17.00 น.) แผนกสูตินรีเวช ชั้น 3
ข่าวสาร & โปรโมชั่น >> Line ID : @bangkokhuahin