"โรคหลังคลอด" ที่คุณแม่ต้องเตรียมรับมือ
ช่วงเวลาหลังคลอด คือระยะเวลาตั้งแต่ที่ทารกและรกได้คลอดออกมา จนถึงประมาณ 6 – 8 สัปดาห์หลังจากนั้น ซึ่งช่วงเวลาหลังคลอดเป็นช่วงเวลาที่ผลของการตั้งครรภ์ต่อระบบต่างๆ ของร่างกายเริ่มที่จะหายไป และกลับเข้าสู่สภาวะปกติก่อนตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามภายในเวลาดังกล่าว ทุกระบบของร่างกายอาจไม่ได้กลับสู่สภาวะเดิมเหมือนช่วงก่อนตั้งครรภ์ ทั้งหมด
โดย แพทย์หญิงภัทรพร ตั้งกีรติชัย สูตินรีแพทย์ เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า ช่วงเวลาหลังคลอดเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับคุณแม่ เพราะนอกจากจะต้องดูแลลูกน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลกแล้ว ยังต้องคอยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในสภาวะต่างๆ ของร่างกายอีกด้วย ซึ่งคุณแม่แต่ท่านละท่านอาจจะมีอาการหลังคลอดที่แตกต่างกันออกไป โดยหลักๆ มักพบอาการดังต่อไปนี้
ภาวะปวดหลังคลอด เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยๆ หลังคลอด ทั้งจากการคลอดทางช่องคลอด และการผ่าตัดคลอด สาเหตุที่พบได้บ่อยเกิดจากการหดรัดตัวของมดลูก และจะปวดมากขึ้นขณะที่ลูกน้อยกำลังดูดนม เนื่องจากมีการหลั่งของฮอร์โมนออกซิโตซิน (oxytocin) โดยสามารถบรรเทาอาการได้โดยการให้ยาแก้ปวด
มดลูกอักเสบ ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บครรภ์เป็นเวลานาน น้ำเดินเป็นเวลานาน การตรวจภายในบ่อยครั้งในช่วงระหว่างรอคลอด ทารกถ่ายขี้เทาในครรภ์มารดา มีการล้วงรก การทำหัตถการช่วยคลอด หรือคุณแม่เป็นเบาหวาน ต่างก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของมดลูกอักเสบติดเชื้อ โดยจะมีอาการ มีไข้ ปวดท้องน้อย กดเจ็บบริเวณมดลูก นอกจากนี้น้ำคาวปลามีลักษณะ และกลิ่นผิดปกติ มดลูกไม่หดตัว ทำให้มีเลือดออกจากช่วงคลอดจำนวนมากตามมาได้ ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์
การเจ็บเต้านม เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุให้คุณแม่หยุดให้นมลูกน้อย เกิดได้หลายสาเหตุ ได้แก่
- การคัดตึงเต้านม เกิดจากการบวมของเนื้อเยื่อเต้านมและมีการคั่งของน้ำนม ซึ่งทำให้เกิดการเจ็บเต้านม และมีไข้ต่ำๆ วิธีรักษาที่ดีที่สุดคือ “ให้นมลูกน้อย หรือการปั๊มจนน้ำนมหมดเต้าอย่างสม่ำเสมอ” หากปล่อยให้เต้านมคัดตึงมาก หัวนมจะเรียบ (flatten) ทำให้ลูกน้อยดูดได้ยากขึ้น เนื่องจากปากของลูกน้อยจะไม่แนบสนิทดีกับลานหัวนม ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บของหัวนมตามมาด้วย แนะนำให้บรรเทาอาการด้วย “การประคบด้วยความเย็น” ร่วมกับรับประทานยาแก้ปวด แต่ไม่แนะนำให้ประคบด้วยความร้อน แม้ความร้อนอาจช่วยลดปวดและให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น แต่ก็เป็นการทำให้เนื้อเยื่อบวมมากขึ้นด้วยเช่นกัน ถ้าหากเต้านมคัดตึงเป็นเวลานานร่วมกับมีอาการบวม แดงหรือมีก้อนกดเจ็บร่วมกับมีไข้จะสงสัยภาวะเต้านมอักเสบหรือมีหนองแนะนำให้พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาทันที
- การเจ็บหัวนม เกิดจาก 2 สาเหตุหลักๆ โดยสาเหตุแรกเกิดจาก “ความไวของหัวนมที่เพิ่มขึ้น” มักจะดีขึ้นใน 4 – 7 วันแรกหลังคลอด อาการจะหายไป 30 วินาที ถึง 1 นาที หลังจากลูกน้อยเริ่มดูดนม ต่างจาก “การบาดเจ็บของหัวนม” มักเกิดจากเทคนิคการให้น้ำนมผิดวิธี ซึ่งจะเจ็บตลอดเวลา และเจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเป็นนานกว่า 7 วันหลังคลอด บางครั้งสัมพันธ์กับการติดเชื้ออักเสบ การรักษาควรรักษาตามสาเหตุนั้นร่วมกับการใช้ครีมทาหัวนม ตามคำแนะนำของแพทย์