ปัสสาวะไม่ได้เป็นดั่งใจ... เสี่ยงโรคต่อมลูกหมากโต
ต่อมลูกหมาก คืออวัยวะที่มีลักษณะคล้ายเม็ดเกาลัด หรือลูกท้อ อยู่ภายในร่างกายของผู้ชาย โดยห่อหุ้มท่อปัสสาวะส่วนต้น บางท่านจะสับสนกับลูกอัณฑะ ซึ่งมีหน้าที่ผลิตอสุจิ หน้าที่ของต่อมลูกหมากคือหลั่งเมือกและสารล่อเลี้ยงอสุจิ โดยต่อมลูกหมากจะโตมากขึ้นตามอายุ จากปริมาณฮอร์โมนเพศชาย ดังนั้นเมื่อต่อมลูกหมากโตมากขึ้นกว่าปกติก็จะนำไปสู่โรคได้ และเนื่องจากว่า ต่อมลูกหมากโตตามอายุ ทำให้พบโรคต่อมลูกหมากโตได้ในผู้ที่มีอายุมากขึ้น โดยเริ่มพบตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป และเมื่ออายุ 80 – 90 ปี สามารถพบได้ถึง 90% เลยทีเดียว
นายแพทย์ การันต์ หริมเทพาธิป ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า อาการของโรคต่อมลูกหมากโต เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ การที่ต่อมลูกหมากอุดท่อทางเดินปัสสาวะ และ ต่อมลูกหมากไปกระตุ้นและระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีอาการ ได้แก่ ปัสสาวะไม่พุ่ง ต้องเบ่งปัสสาวะ ต้องรอเวลาก่อนที่ปัสสาวะจะออกมา สายของปัสสาวะไม่สม่ำเสมอ ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะกลางคืน รวมไปถึงปัสสาวะแสบ ปัสสาวะขัด ซึ่งอาการก็จะแตกต่างกันออกไป หรือบางรายอาจไม่มีอาการเตือนใดๆ แต่กลับพบมีอาการปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน และมีอาการปวดปัสสาวะรุนแรงมากก็สามารถเกิดขึ้นได้
โรคต่อมลูกหมากโต ต้องตรวจอะไรบ้าง
เมื่อผู้ป่วยมีอาการและมาปรึกษา แพทย์จะเริ่มต้นโดยการตรวจด้วยการคลำต่อมลูกหมากทางรูทวาร เพื่อประเมินขนาดของต่อมลูกหมากเบื้องต้น และหาลักษณะความผิดปกติที่เข้าได้กับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ต่อมาคือการตรวจปัสสาวะเพื่อวินิจฉัยแยกโรคการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
การตรวจวินิจฉัยอื่นๆ ที่แนะนำตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากโดยการตรวจ PSA เนื่องจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคต่อมลูกหมากโต มีอาการแสดงแบบเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถแยกโรคได้จากอาการแสดง จึงแนะนำในผู้ชายที่อายุ 50 – 75 ปี ควรรับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นประจำทุกปี
การตรวจความแรงของปัสสาวะและปริมาณปัสสาวะที่เหลือหลังปัสสาวะ นิยมตรวจเพื่อประเมินความแรงของการปัสสาวะ ความสามารถในการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และยังใช้เปรียบเทียบ ก่อน ระหว่าง และหลังการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตได้อีกด้วย
การตรวจอัลตราซาวน์ระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อประเมินภาวะอื่นๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ก้อนเนื้อ นิ่วในไตและกระเพาะปัสสาวะ รวมไปถึงสามารถประเมินขนาดของต่อมลูกหมากได้อีกด้วย
วิธีรักษาโรคต่อมลูกหมากโต
ในผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตที่คัดกรองโดยการคลำต่อมลูกหมาก และตรวจค่า PSA แล้วว่าไม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ถ้าหากไม่มีอาการ คนไข้สามารถตรวจติดตามโดยการมาพบแพทย์เพื่อคลำต่อมลูกหมาก ทุกๆ 2 ปี และเจาะเลือดตรวจ PSA ทุกๆ 1 ปีได้
ถ้าคนไข้มีอาการ สามารถเริ่มรักษาได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยขึ้นอยู่กับภาวะของผู้ป่วย เช่น ถ้าปัสสาวะกลางคืน ก็ให้งดน้ำก่อนเข้านอนประมาณ 2 ชั่วโมง งดกาแฟ งดชา เป็นต้น
สำหรับการรักษาด้วยยา โดยยาที่ใช้ในการรักษาต่อมลูกหมากโตมีหลายชนิด ขึ้นกับอาการที่เป็น และการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยแต่ละบุคคล แพทย์จะปรับยา และดูแลอาการตลอดการรักษา
การรักษาโดยการผ่าตัด แบ่งออกได้เป็น 2 กรณี
- เมื่อคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก แล้วพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก อาจมีความจำเป็นต้องนำชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากไปส่งตรวจ โดยใช้เครื่องอัลตราซาวน์สอดเข้าที่รูทวารเพื่อหาตำแหน่งของต่อมลูกหมาก และใช้เข็มในการเจาะตัดต่อมลูกหมากไปส่งตรวจ ซึ่งวิธีนี้เป็นเพียงการนำเอาต่อมลูกหมากไปส่งตรวจเท่านั้น
- การผ่าตัดต่อมลูกหมาก ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนจากต่อมลูกหมาก เช่น ปัสสาวะไม่ออก รักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีเลือดออกจากต่อมลูกหมากที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยา เป็นต้น โดยการผ่าตัดมีหลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อคว้านนำต่อมลูกหมากออกด้วยไฟฟ้า หรือเลเซอร์ การใช้ไอน้ำร้อนเพื่อลดขนาดต่อมลูกหมาก ซึ่งทั้งหมดเป็นการผ่าตัดเพื่อให้ปัสสาวะดีขึ้น ไม่มีแผลผ่าตัด และพักฟื้นไม่นานตั้งแต่ 1-4 วัน ขึ้นอยู่วิธีกับรักษา
- อาจทำให้มีอาการมากขึ้นได้ บางรายถ้าปัสสาวะกลางคืนบ่อยก็อาจทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอได้
- การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะซ้ำ เนื่องจากผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะต่อมลูกหมากโต มีปัสสาวะเหลือค้างหลังปัสสาวะเป็นจำนวนมาก ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย
- ภาวะปัสสาวะไม่ออก เนื่องจากต่อมลูกหมากโตมาก บางรายปล่อยไว้ระยะเวลานาน อาจทำให้กล้ามเนื้อปัสสาวะผิดปกติ จนถึงไตเสื่อมจากการอุดกั้นของปัสสาวะได้