โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์... เป็นแล้วต้องพิการจริงหรือ?
ปัจจุบัน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคที่สังคมให้ความสนใจและบางครั้งก็สร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีความเชื่อที่ว่า “เมื่อเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์แล้วต้องพิการ” ในบทความนี้จะขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ที่จะช่วยให้ผู้ที่ต้องเผชิญกับโรคนี้ สามารถจัดการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม และช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
พญ. นราวดี โฆษิตเภสัช อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่ยังรักษาให้หายขาดไม่ได้และก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานจากการปวดข้ออย่างมาก ซึ่งหากผู้ป่วยไม่เข้ารับการรักษาอาจทำให้เกิดความพิการ เกิดโรคแทรกซ้อน และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้
สาเหตุที่แท้จริงของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์นั้น ยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอน แต่จากการศึกษาพบว่า โรคนี้มีปัจจัยเสี่ยงทางกรรมพันธุ์ และปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่สัมพันธ์กับการเกิดโรค ได้แก่ การสัมผัสกับฝุ่นซิลิกา การสูบบุหรี่ โรคฟันผุ การติดเชื้อไวรัสบางชนิด อีกทั้งโรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่บริเวณข้อเท่านั้น ยังสามารถมีอาการทางระบบอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น ตา กล้ามเนื้อ หลอดเลือดอักเสบ ปอดเป็นพังผืด เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ทำให้มีโลหิตจางจากการอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์สามารถเป็นได้กับทุกกลุ่มอายุตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่ส่วนใหญ่จะพบในช่วงอายุวัยกลางคน และมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
อาการของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ พบว่าอาการทางข้อเริ่มแรกของผู้ป่วยส่วนใหญ่ คือ อาการปวดข้อ โดยเริ่มจากปวดข้อ 1 – 2 ข้อ แล้วค่อยๆ ปวดข้อหลายข้อแบบสมมาตร อาจจะเริ่มจากข้อเล็กๆ เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า หรือเริ่มจากข้อขนาดใหญ่ เช่น ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า โดยผู้ป่วยจะมีอาการฝืดตึงข้อ ข้อบวม ไม่สามารถใช้งานข้อได้ตามปกติ อาการมักเกิดหลังตื่นนอนตอนเช้าและมีอาการปวดฝืดตึงข้อมากกว่า 1 ชั่วโมง หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้อาการปวดฝืดตึงข้อเพิ่มขึ้น ซึ่งมักเป็นนานมากกว่า 3 – 4 ชั่วโมงและอาการจะดีขึ้นหรือทุเลาลงในช่วงบ่าย จึงแนะนำให้ผู้ที่มีอาการเหล่านี้หรือบุคคลที่ใกล้ชิด ไม่ควรละเลย ให้มาปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม แต่หากในรายที่ได้รับการรักษาล่าช้าหรือรักษาอย่างไม่ถูกต้อง ก็อาจเกิดการทำลายข้อถาวร ทำให้ข้อผิดรูปและพิการได้
การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ การดำเนินของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในระยะเริ่มต้น มักเป็นไปอย่างช้าๆ จำเป็นต้องให้แพทย์เฉพาะทางเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยโดยอาศัยอาการนำที่สำคัญ ประกอบกับการตรวจร่างกายและการตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมกัน เพื่อแนะนำการดูแลรักษาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยแต่ละราย
การรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค โดยเริ่มต้นจากการดูแลตนเอง การพักผ่อน และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสุขภาพ เช่น เลิกสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม และรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม วิตามินดี การดูแลและป้องกันไม่ให้ข้อถูกทำลายมากขึ้น โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมทำลายข้อ เช่น การยกของหนัก การนั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ นั่งกับพื้น หรือกระโดด อาจใช้วิธีประคบอุ่นเมื่อมีอาการปวด และแพทย์จะให้การรักษาด้วยยาที่ใช้ในการควบคุมและรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ให้ได้ผลดี
“ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ไม่ได้หมายความว่าเป็นคุณเป็นผู้พิการแล้ว เพราะโรคนี้เป็นโรคที่เราสามารถรับมือและจัดการได้ด้วยวิธีการที่เหมาะสม ที่สำคัญคือผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางอย่างถูกต้องใกล้ชิด ซึ่งจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และไม่ต้องเผชิญกับปัญหาการพิการได้” พญ. นราวดี กล่าวทิ้งท้าย
**************************************************************************
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมายพบแพทย์ กรุณาติดต่อ :
โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน
โทร. 032-616-880 (7.00 – 19.00 น.) แผนกบริการผู้ป่วยนอก/อายุรกรรม ชั้น 1
ข่าวสาร & โปรโมชั่น >> Line ID : @bangkokhuahin