SAFE LOVE… รู้จักและป้องกัน HIV
HIV คือเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะทำให้เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ต่ำลง และเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จากรายงานของ WHO ในปีพ.ศ. 2566 มีผู้เสียชีวิตจาก HIV แล้วถึง 40.4 ล้านคน และในปีที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อ HIV ทั่วโลกจำนวน 39 ล้านคน โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1.3 ล้านคน สำหรับสถิติในประเทศไทยจากกรมควบคุมโรคในปีพ.ศ. 2566 ประมาณการผู้ติดเชื้อ 580,000 คน เสียชีวิต 12,000 คน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,100 คน พญ. เพลินพิศ ตัณฑจินะ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า อาการของผู้ติดเชื้อ HIV แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1: ระยะเฉียบพลัน (Acute HIV Infection) เกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อ 2 – 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยมักมีอาการ “Flu-like symptoms” เช่น มีไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ผื่นขึ้นตามร่างกาย โดยอาการจะคงอยู่ไม่กี่วัน จนถึงหลายสัปดาห์ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจแยกจากโรคอื่นได้ยาก หรือในผู้ติดเชื้อบางรายอาจไม่มีอาการ จึงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์และทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือด ระยะที่ 2: ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ (Chronic HIV Infection) เป็นระยะที่ผู้ติดเชื้อมักไม่มีอาการ แต่ไวรัสยังคงแบ่งตัวและทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ให้ลดจำนวนลงเรื่อยๆ ซึ่งระยะที่ 2 นี้อาจเป็นเวลานานหลายปีแล้วแต่บุคคล สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาจะทำให้มีภูมิคุ้มกันที่ลดลงและเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น ระยะที่ 3: ระยะเอดส์ (Acquired Immunodeficiency Syndrome, AIDS) เป็นระยะที่ระดับเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อฉวยโอกาสต่างๆ ได้ เช่น วัณโรค เชื้อราในเยื่อหุ้มสมอง ติดเชื้อในปอด ถ้าไม่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ การติดต่อ : เชื้อ HIV สามารถติดต่อผ่านทางเลือด น้ำเหลือง น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด อวัยวะเพศชาย และทวารหนัก หรือน้ำนม โดยพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย การใช้ของมีคมร่วมกับผู้ติดเชื้อ เช่น เข็มฉีดยา เข็มสัก มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ เข็มเจาะหู เจาะสะดือ การสัมผัสเลือด น้ำเหลืองของผู้ติดเชื้อ HIV ผ่านเยื่อบุหรือผิวหนังที่มีแผลเปิด การป้องกัน : เชื้อ HIV สามารถป้องกันได้ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์  ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น และการใช้ยา PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) และ PEP (Post-Exposure Prophylaxis) ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ PrEP คือ ยาต้านไวรัสที่ป้องกันการติดเชื้อ HIV ก่อนที่จะมีความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ โดยรับประทานเป็นประจำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง ผู้ที่เหมาะสมจะใช้ PrEP ได้แก่ ผู้มีเพศสัมพันธ์กับคู่ที่ติดเชื้อ HIV โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คู่นอนที่ไม่ทราบระดับไวรัส HIV หรือยังคงตรวจพบไวรัส HIV ในเลือดอยู่ ผู้ที่ใช้ถุงยางอนามัยไม่สม่ำเสมอ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV เป็นประจำ และผู้ที่ใช้ PEP บ่อยครั้ง PEP คือ ยาต้านไวรัสที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อ HIV หลังจากที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ โดยต้องรับประทานยาภายใน 72 ชั่วโมง หลังจากมีความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ เช่น กรณีถุงยางอนามัยฉีกขาด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ HIV โดยไม่ได้ป้องกัน และต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลา 28 วัน การรักษา : หลังจากได้รับการตรวจยืนยันการติดเชื้อ HIV แล้ว แพทย์จะให้การรักษาด้วยการให้ยาต้านไวรัส โดยยาจะควบคุมไวรัสไม่ให้เพิ่มจำนวน และช่วยให้ปริมาณเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 เพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น โดยหากได้เริ่มเข้ารับการรักษาเร็ว ตั้งแต่ระดับเม็ดเลือดขาว CD4 ยังไม่ต่ำมาก ก็จะยิ่งช่วยลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้ “หากคุณมีความเสี่ยง หรือมีความกังวลใจว่าจะติดเชื้อ HIV ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินความเสี่ยง เข้ารับการตรวจเลือด และรับคำปรึกษาถึงวิธีการป้องกันที่เหมาะสมสำหรับตัวเอง เพราะโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ หากตรวจพบเร็ว ก็จะได้รับการรักษาเร็ว และป้องกันการติดเชื้อไปสู่คนที่คุณรักได้ด้วย” พญ. เพลินพิศ กล่าวทิ้งท้าย ************************************************************************** ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง / สอบถามข้อมูล / ทำนัดหมายพบแพทย์ ได้ที่ LINE OA : BHN Safe Love Scan QR Code หรือ คลิก >> https://lin.ee/XXEhyqT ************************************************************************** โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน โทร. 032-616-880  (7.00 – 19.00 น.) แผนกบริการผู้ป่วยนอก/อายุรกรรม ชั้น 1 ข่าวสาร & โปรโมชั่น >> Line ID : @bangkokhuahin