โรคงูสวัด... เราควรรู้อะไรบ้าง
นพ.พงษ์ศักดิ์ บุญยะลีพรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน และแพทย์ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ กล่าวว่า โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัสอีสุกอีใสที่ซ่อนอยู่ในตัวของผู้ป่วยเองเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งวันที่ภูมิต้านทานเราอ่อนแอ เชื้อจึงออกมาจากที่ซ่อนและทำให้เกิดโรคได้   โรคนี้ยังสามารถติดต่อกันได้โดยการสัมผัสบริเวณผื่น โดยระยะที่ติดต่อเป็นระยะช่วงที่มีผื่น ตุ่มน้ำใส และตกสะเก็ด ในรายที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใส ถ้าไปสัมผัสกับคนไข้ที่เป็นงูสวัดก็จะเป็นโรคอีสุกอีใส ไม่ใช่งูสวัด ผู้ป่วยอาจมีอาการเหมือนจะเป็นไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือเจ็บแสบร้อนหรือมีอาการเสียวหรือคันที่บริเวณผิวหนัง ตรงไหนของร่างกายก็ได้ หลังจากนั้นจะเริ่มมีผื่นลักษณะแดง ปวดแสบหรือ คัน เป็นตามแนวประสาทของร่างกาย โดยมักเริ่มในแนวใกล้ๆ กลางลำตัวตามแนวปมประสาท เช่น ตามประสาทของลำตัว แขน ขา ตา และหู. รอยโรคมักเกิดเพียงด้านเดียวโดยส่วนใหญ่จะพบที่ลำตัว หลังเกิดผื่นได้ 1 วัน ผื่นจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส หลังจากนั้นไม่กี่วัน ผื่นจะเริ่มตกสะเก็ดบางครั้งจะมีสะเก็ดสีดำๆ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะหายไปเองได้ แต่สามารถทิ้งรอยแผลเป็นไว้ได้  ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่นผู้ป่วยโรคเอดส์ มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือกลุ่มคนไข้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผื่นจะรุนแรงมาก สามารถเป็นได้รอบตัว แต่ถ้าภูมิคุ้มกันปกติผื่นจะเป็นแค่ซีกเดียว หลังอาการที่ผิวหนังหายไปแล้วจะอาจยังคงมีอาการเจ็บปวดอยู่ จากภาวะเส้นประสาทอักเสบ (Post – Herpetic Neuralgia) โดยเฉพาะคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป การฟื้นตัวของเส้นประสาทนั้นจะใช้เวลานาน ส่วนมากจึงยังมีอาการเจ็บต่อเนื่องอีกหลายเดือนหรือเป็นปี การรักษาโรคงูสวัด
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรืองูสวัดขึ้นที่บริเวณหน้า หรือมีอาการปวดรุนแรง แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน ซึ่งควรจะให้ภายใน 2 – 3 วันหลังเกิดอาการ เพื่อลดความรุนแรง และช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น รวมทั้งช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อนในภายหลังได้
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ หรือเป็นชนิดแพร่กระจายทั้งตัว แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และจะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
  • สำหรับผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดขึ้นที่ตา ควรรักษากับจักษุแพทย์ ซึ่งแพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดทานและหยอดตา เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตา แต่ยาที่ใช้จะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้โดยตรง แต่จะทำให้การอักเสบสงบลง และเชื้อไวรัสจะกลับไปฝังตัวอยู่ที่ปมประสาทเหมือนเดิม ถ้าร่างกายมีภาวะอ่อนแอก็กลับมาเป็นอีกได้ ซึ่งผลการรักษาจะได้ผลดีถ้าเริ่มให้ยา ภายใน 3 วัน สิ่งสำคัญที่สุดคือ การตรวจเจอแต่เนิ่นๆ ถ้าบริเวณที่เจ็บนั้นมีตุ่มพองขึ้นในบริเวณเดียวกัน ต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ยิ่งตรวจพบเจอเร็วก็สามารถใช้ยาต้านทานไวรัสไว้ได้ อาการเจ็บหลังเกิดโรคนั้นก็จะเกิดขึ้นได้ยาก
การดูแลรักษาด้วยตัวเอง
  1. ในระยะเป็นตุ่มน้ำใส ให้รักษาแผลให้สะอาด โดยใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเกลืออุ่นๆ หรือกรดบอริค 3% ปิดประคบไว้ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วชุบเปลี่ยนใหม่ ทำวันละ 3 – 4 ครั้ง
  2. ในระยะตุ่มน้ำแตกมีน้ำเหลืองไหลต้องระมัดระวังการติดเชื้อแบคทีเรียที่จะเข้าสู่แผลได้ ควรล้างแผลด้วยน้ำเกลือสะอาด แล้วปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ
  3. ถ้าปวดแผลมาก สามารถทานยาแก้ปวดได้
  4. ไม่ควรใช้เล็บแกะเกาตุ่มงูสวัด เพราะอาจทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน กลายเป็นตุ่มหนอง แผลหายช้า และ กลายเป็นแผลเป็นได้
  5. ไม่ควรเป่าหรือพ่นยาลงบนแผล เพราะจะทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน แผลหายช้าและกลายเป็นแผลเป็นได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด
  1. ติดเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากการแกะเกา หรือดูแลผื่นไม่ถูกต้อง ทำให้แผลหายช้าและเกิดเป็นแผลเป็นได้
  2. ในรายที่งูสวัดขึ้นตา อาจทำให้เกิดกระจกตาอักเสบ ต้อหิน ประสาทตาอักเสบ อาจมีผลต่อการมองเห็นได้
  3. ในรายที่เป็นงูสวัดบริเวณหู อาจทำให้เกิดอัมพาตในหน้าครึ่งซีก มีอาการบ้านหมุน อาเจียน ตากระตุกได้
  4. ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โรคอาจแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดหรือเข้าสู่สมอง และอวัยวะภายใน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  5. ผู้หญิงที่เป็นงูสวัดขณะตั้งครรภ์ เชื้ออาจแพร่ไปยังทารกในครรภ์ ทำให้ทารกเกิดความผิดปกติ เช่น มีแผลเป็นตามตัว แขนขาลีบ ศีรษะเล็ก และมีปัญหาทางสมองได้
ความแตกต่างระหว่าง เริม กับ งูสวัด เริม กับ งูสวัด มีอาการและลักษณะคล้ายๆ กัน วิธีการสังเกตง่ายๆ คือ งูสวัดมีลักษณะผื่นที่เป็นปื้นกระจายตัวตามเส้นประสาท ถ้าเป็นเริมตุ่มน้ำใสจะขึ้นทีละน้อยมากันเป็นกลุ่มๆ งูสวัดจะปวดแสบปวดร้อนมากกว่าในเริมซึ่งอาจแค่แสบๆ คันๆ งูสวัดส่วนใหญ่เป็นแค่ครั้งเดียว แต่เริมเป็นซ้ำได้บ่อยๆ   ในบริเวณเดิมหรือใกล้เคียงเดิม วิธีป้องกันโรคงูสวัด ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสผื่นในผู้ป่วยที่เป็นงูสวัด โดยเฉพาะคนไข้ที่ยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใส และในผู้สูงอายุควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ทั้งนี้ผู้ที่รับวัคซีนยังมีโอกาสเป็นงูสวัดได้อยู่ แต่อาการมักจะไม่รุนแรง และภาวะแทรกซ้อนจะพบได้น้อยกว่า “ถ้าหากเห็นมีตุ่มใสๆ เห่อขึ้นตามผิวหนังส่วนใดก็ตาม หรือมีอาการแสบร้อน โดยมักเป็นในช่วงกลางคืน วันรุ่งขึ้นจะมีตุ่มพองเหมือนถูกยุงกัดบริเวณที่ปวด ให้สงสัยว่าเป็นโรคงูสวัด และควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว เพราะถ้าปล่อยไว้จะเสี่ยงกับอาการแทรกซ้อน โดยเฉพาะหากเกิดในผู้สูงอายุ และแนะนำให้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดเพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค” นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย ************************************************************************** สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมายพบแพทย์ กรุณาติดต่อ : โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน 📣 ข่าวสาร/โปรโมชั่น วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด (Shingrix) ติดต่อ Line : @bangkokhuahin