“เมื่อลูกน้อยเป็นหวัด” อย่าไว้ใจ… ควรดูแลใกล้ชิด
โรคหวัดเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็ก ซึ่งเกิดได้ง่ายและมักหายได้เอง แต่ก็เป็นโรคที่นำผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุดเช่นกัน ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรให้การดูแลใส่ใจบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากเกิดอาการรุนแรงหรือสงสัยภาวะแทรกซ้อน จะได้พาบุตรหลานมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
นพ. อนุสรณ์ ศรินโรจน์ กุมารแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า สาเหตุของโรคหวัดในเด็ก มักเกิดจากการติดเชื้อกลุ่มไวรัส ซึ่งมีหลายกลุ่ม หลายสายพันธุ์ ที่เป็นสาเหตุมีมากมายกว่า 200 ชนิด สำหรับเชื้อแบคทีเรียก็อาจเป็นสาเหตุเริ่มแรกได้แต่พบได้น้อย โดยส่วนใหญ่การติดเชื้อแบคทีเรียของโรคหวัด มักเป็นการติดเชื้อซ้ำเติมภายหลังการติดเชื้อไวรัส พยาธิสภาพ และการดำเนินโรค
ระยะติดต่อของโรคหวัด
โรคหวัดสามารถแพร่ไปยังผู้อื่น ได้ตั้งแต่ 8 – 12 ชม. ก่อนปรากฏอาการ และตลอดระยะเวลาระหว่างมีอาการโดยเฉพาะช่วงมีไข้ สามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยจากการไอ จาม รดกัน หรือการสัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ ภาชนะต่างๆ ของผู้ป่วย ตลอดจนการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารในภาชนะเดียวกัน ที่ทำให้สัมผัสทางอ้อมกับน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย เข้าทางจมูกหรือปาก
อาการของโรคหวัด
แม้โรคหวัดจะเป็นโรคที่ส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง ซึ่งในเด็กเล็กอาการมักรุนแรงกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ อาการจะแสดงให้เห็นตั้งแต่รับเชื้อเข้าไปประมาณ 1 – 2 วัน และจะแสดงอาการมากที่สุดภายใน 2 – 3 วัน แล้วจึงจะค่อยๆ ทุเลาลง ภายใน 5 – 7 วัน ผู้ป่วยเด็กบางรายอาจจะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว ทำให้ร้องกวนงอแง และเบื่ออาหารตามมาได้
เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อเข้าไปทางจมูก หรือระบบทางเดินหายใจ จะทำให้เยื่อบุจมูกบวมแดง มีการหลั่งของเมือก ออกมาเป็นน้ำมูกใส แต่หากน้ำมูกระบายได้ไม่ดี มีการหมักหมมก็จะเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่นข้นขึ้น และหากมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน น้ำมูกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีเขียว ทำให้เด็กหายใจไม่ออก ผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจพิจารณาให้ควรรับการตรวจน้ำมูกเพาะเชื้อเพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติม และหากไหลไปด้านหลังที่คอก็จะทำให้มีอาการไอ คออักแสบแดง เจ็บคอ และมีเสมหะในลำคอ อาจมีโรคแทรกซ้อนถ้าเชื้อเข้าไปยังโพรงไซนัสรอบจมูก หูชั้นกลาง ต่อมน้ำเหลือง หลอดลมหรือปอด
อาการแทรกซ้อน
ปัญหาที่เกิดตามมาของโรคหวัด ได้แก่ การอักเสบของหูชั้นกลาง การอักเสบของไซนัสที่รอบจมูก เยื่อบุตาอักเสบ หลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ ปอดอักเสบ กระตุ้นหลอดลมหดเกร็งตัวทำให้ไอมาก หรือหายในลำบาก ในบางรายอาจเกิดอาการชักจากไข้สูง และอาจเกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรืออันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ในรายที่มีไข้ที่อาจไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ อาทิ โรคเส้นเลือดอักเสบทั่วร่าง SLE โรคเส้นเลือดหัวใจอักเสบคาวาซากิ ซึ่งมักมีอาการไข้มากกว่า 5 วัน แพทย์แนะนำให้ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม เช่น เจาะเลือดจำเพาะ ตรวจ Echocardiogram เพื่อตรวจดูการทำงานของหัวใจและขนาดของเส้นเลือดหัวใจ หากเป็นโรคคาวาซากิควรได้รับการรักษาจำเพาะภายใน 10 วัน หลังจากเกิดไข้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงกลายเป็นโรคหัวใจที่รุนแรงในอนาคต
การดูแลรักษาโรคหวัดในเด็ก
ในเบื้องต้นส่วนใหญ่เป็นการดูแลรักษาตามอาการ ได้แก่ การเช็ดตัวลดไข้หากมีไข้ และรักษาความอบอุ่นของร่างกายให้เหมาะสม ผู้ปกครองควรดูแลให้เด็กดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้เสมหะไม่เหนียวจากการที่ผู้ป่วยจะมีแนวโน้มขาดน้ำจากการมีไข้ และรับประทานได้น้อย ดูแลเสมหะที่จมูกและคอในเด็กเล็กถ้ามีน้ำมูกเหนียว หรือแห้งให้หยอดจมูกด้วยน้ำเกลือ 5 – 10 หยด แล้วใช้ลูกยางดูดออก หากเด็กมีน้ำมูกมาก พ่อแม่ผู้ปกครองควรล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างถูกวิธี อีกทั้งผู้ป่วยควรเลี่ยงควันและไอเย็นจัด เนื่องจากจะไปกระตุ้นให้ไอและหลอดลมหดตัวขึ้นได้ และที่สำคัญควรดูแลให้เด็กรับประทานอาหารให้ครบหมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ
หากจำเป็นต้องใช้ยา ผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับคำปรึกษาที่เหมาะสมซึ่งแตกต่างกันไปในอาการของผู้ป่วยเด็กแต่ละคน โดยเฉพาะในแง่ข้อบ่งชี้ที่ใช้ สรรพคุณ ปริมาณที่ใช้ ผลข้างเคียงของยา และข้อควรระวัง หรือข้อห้ามในเด็กบางราย ซึ่งยาที่มักใช้ในการรักษา ได้แก่ ยาลดไข้ ยาแก้ไอ หรือละลายเสมหะ หรือขยายหลอดลม ยาบรรเทาอาการคัดจมูก อาจอยู่ในรูปรับประทานหรือหยอดจมูก หากเด็กมีน้ำมูกไหลมากอาจให้ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก แต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะในเด็กเล็ก เนื่องจากทำให้เสมหะเหนียวแห้งขึ้น และระบายเสมหะจากหลอดลมได้ยากขึ้น ส่วนยาต้านเชื้อแบคทีเรีย หรือยาปฏิชีวนะ จะให้เมื่อสงสัยมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่แนะนำให้พ่อแม่ผู้ปกครองใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรียเอง เพราะกรณีที่หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส นอกจากจะไม่เป็นประโยชน์ในการรักษาแล้ว ยังอาจทำให้เด็กถ่ายเหลวและเสี่ยงต่อการดื้อยาปฏิชีวนะในอนาคต
“ถ้าเด็กมีอาการหายใจลำบาก หายใจแรง เหนื่อยหอบ ไอมากขึ้น มีไข้นานกว่า 3 วัน หรือมีไข้สูงมาก เด็กดูซึมลงมาก รับประทานอาหารหรือนมไม่ได้ ไม่เล่นเหมือนเดิม หรือสงสัยมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ อาทิ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) ซึ่งมักเกิดในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี เชื้อไวรัส RSV นี้มองเผิน ๆ อาจเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่ก็ไม่ควรประมาทเพราะอันตรายอาจถึงแก่ชีวิตได้
ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองควรให้การดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถสังเกตอาการ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที และสามารถพาเด็กมาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัย” นพ.อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
**************************************************************************
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมายพบแพทย์ กรุณาติดต่อ :
โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน
โทร. 032-616-883 แผนกกุมารเวช (8.00 – 17.00 น.)
ข่าวสาร & โปรโมชั่น >> Line : @bangkokhuahin