ต่อมทอนซิลอักเสบ
ต่อมทอนซิล (Tonsils) เป็นกลุ่มของเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองอยู่ในลำคอทั้ง 2 ข้าง ภายในต่อมทอนซิลมีเม็ดเลือดขาวหลายชนิด ซึ่งมีหน้าที่หลักในการจับและทำลายเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร พญ. นทิตา ชมชื่น  แพทย์เฉพาะทางด้าน หู คอ จมูก โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน  กล่าวว่าทอนซิลอักเสบ เป็นภาวะการอักเสบของต่อมทอนซิล มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้ เจ็บคอ กลืนเจ็บ อาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวมโต และอาจพบภาวะแทรกซ้อนของทอนซิลอักเสบ เช่น ฝีหนองรอบต่อมทอนซิลได้ โดยปกติแพทย์จะรักษาตามอาการและความรุนแรง เช่น ให้ยาปฏิชีวนะ ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ ยาลดไข้ ยาแก้อักเสบ หรือการผ่าตัดเพื่อระบายหนอง เป็นต้น การผ่าตัดต่อมทอนซิล (Tonsillectomy) โดยทั่วไปแพทย์จะพิจารณาผ่าตัดต่อมทอนซิลในกรณีที่
  1. การรักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือเกิดการอักเสบปีละหลายๆ ครั้ง รบกวนต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย (6 ครั้งต่อปี, หรือ 5 ครั้งต่อปี 2 ปีติดต่อกัน, หรือ 3 ครั้งต่อปี 3 ปีติดต่อกัน)
  2. การเกิดฝีรอบๆ ต่อมทอนซิล หลังรักษาอาการฝีรอบๆ ทอนซิลหายแล้ว ประมาณ 1 – 2 เดือน ค่อยมาผ่าตัดทอนซิลออก
  3. เมื่อต่อมทอนซิลโตมาก ทำให้เกิดการนอนกรน และ/หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  4. ผู้ป่วยที่แพทย์สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งของต่อมทอนซิล หรือมีมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ – แพทย์จะทำการตัดต่อมทอนซิลออกทางปาก โดยการดมยาสลบ ผู้ป่วยต้องงดน้ำ งดอาหารก่อนผ่าตัด 6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักอาหารลงปอดขณะดมยาสลบ – ผู้ป่วยจะมีแผลที่เยื่อบุลำคอทั้ง 2 ข้าง หลังการผ่าตัดอาจมีความรู้สึกเจ็บคอ หลังการผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์ อาการเจ็บแผลจะดีขึ้น และประมาณ 2 – 4 สัปดาห์หลังการผ่าตัดแผลจะหายเป็นปกติ – หลังการผ่าตัดหากไม่มีเลือดออกและรับประทานอาหารได้ดี แพทย์จะนำสายน้ำเกลือออกและอนุญาตให้กลับบ้านได้ โดยแพทย์จะนัดตรวจแผลและฟังผลชิ้นเนื้อประมาณ 1 สัปดาห์หลังการผ่าตัด
การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดต่อมทอนซิล ข้อควรปฏิบัติ
  1. ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอและมีแผลด้านในคอทั้ง 2 ข้าง แผลอาจบวมและมีเลือดจางๆ ได้ ในช่วงแรกอาจจะกลืนอาหารลำบาก ควรรับประทานอาหารเหลวและเย็น เช่น นมเย็น โยเกิร์ต ไอศครีม หากไม่มีอาการปวดแผลบริเวณที่ผ่าตัดแล้ว สามารถเปลี่ยนมารับประทานอาหารอ่อนๆ ที่ไม่มีกากได้ เช่น โจ๊กปั่น ข้าวต้มนิ่มๆ
  2. ผู้ป่วยบางรายอาจมีผนังช่องคอบวมทำให้การหายใจอึดอัด ควรนอนยกศีรษะสูง หากมีอาการบวมมากขึ้นและหายใจไม่สะดวกให้รีบมาพบแพทย์
ข้อควรหลีกเลี่ยง
  1. หลังการผ่าตัด 1 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยงการไอแรงๆ การล้วงคอให้เสมหะออก การแปรงฟันลึกๆ ในช่องปาก การออกแรงมากและการยกของหนัก เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้
  2. หากมีเลือดออกให้ประคบเย็นที่บริเวณลำคอ นอนพักโดยยกศีรษะให้สูงร่วมกับอมน้ำเย็นประมาณ 10 นาที แล้วสลับด้วยการประคบเย็น หากเลือดออกไม่หยุดควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  3. หลังการผ่าตัด 1 สัปดาห์ ไม่ควรรับประทานอาหารรสจัด หลีกเลี่ยงอาหารที่มีก้อนเนื้อชิ้นใหญ่หรืออาหารแข็ง เพราะอาจทำให้ไปครูดแผลผ่าตัด เกิดการติดเชื้อและมีเลือดออกตามมาได้
ภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบและการใส่ท่อช่วยหายใจขณะดมยาสลบ เช่น เจ็บในลำคอ เสียงแหบจากสายเสียงบวม แต่อาการจะดีขึ้นภายใน 2 – 3 วัน ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
  1. เลือดออกจากแผลผ่าตัด ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีก้อนเนื้อชิ้นใหญ่ อาหารที่มีรสจัดหรืออาหารแข็ง
  2. หายใจลำบาก เนื่องจากผนังลำคอบวมมาก ผู้ป่วยอาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจหลังผ่าตัดไว้ระยะหนึ่ง
  3. รับประทานอาหารได้น้อย หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอ กลืนอาหารหรือกลืนน้ำลายลำบาก ทำให้น้ำหนักลดหรือมีอาการขาดน้ำได้ อาจมีน้ำลายปนเลือดออกมาบ้างเล็กน้อย
คนทั่วไปมักมีความเข้าใจว่า การผ่าตัดต่อมทอนซิลออกจะทำให้มีภูมิต้านทานลดลงและเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะการผ่าตัดต่อมทอนซิลไม่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายหรือช่องปากลดลงแต่อย่างไร ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีภาวะต่อมทอนซิลอักเสบ ควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมและทำการรักษาโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้อาการเรื้อรังจนเป็นอันตราย” พญ. นทิตา กล่าว ************************************************************************** สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมายพบแพทย์ กรุณาติดต่อ : โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน โทร. 032-616-880  (7.00 – 19.00 น.) แผนกบริการผู้ป่วยนอก ชั้น 1 Line : @bangkokhuahin หรือ https://lin.ee/5tso2l0