อาการบ้านหมุน คืออะไร ?
อาการบ้านหมุน (Vertigo) คืออาการวิงเวียนศีรษะรูปแบบหนึ่ง ซึ่งต่างจากอาการวิงเวียนทั่วไปตรงที่เราจะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนหรือเคลื่อนไหวไปด้วย บางครั้งอาจรู้สึกว่าพื้นโคลงเคลง บ้านช่องหมุนไปหมด เหมือนกับเวลาเมายังไงยังงั้น และบางคนอาจถึงขั้นเสียการทรงตัว เดินโซเซ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนด้วย ปัญหาที่ตามมาก็คือ อุปสรรคต่อการใช้ชีวิตและการทำงานของเรา จนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บได้ ซึ่งอาการบ้านหมุน สามารถเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและคงอยู่นานไม่กี่วินาที หรืออาจเกิดขึ้นต่อเนื่องและนานหลายวันก็ได้ ในผู้ที่มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนรุนแรง โดยอาการบ้านหมุนมักเกิดกับคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ก็สามารถพบได้ในคนอายุน้อยเช่นกัน
อาการที่เกี่ยวข้อง กับอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน มีดังนี้ ·     – คงสมดุลร่างกายไม่ได้  ซึ่งจะทำให้คุณเดินหรือยืนลำบาก ·     – รู้สึกคลื่นไส้หรืออาเจียน ·     – วิงเวียนศีรษะ ·     – อาการอื่น ๆ เช่น มีไข้สูง หูอื้อ (Tinnitus) และสูญเสียการได้ยิน ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุตัวการที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนของคุณ สาเหตุ ที่ทำให้เกิดอาการบ้านหมุน  ·     โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน หรือโรคเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่า (Benign Paroxysmal Positioning Vertigo: BPPV)  เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนที่พบได้บ่อยที่สุด โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของหูชั้นใน จึงพบมากในผู้สูงอายุ อาการเฉพาะของโรคนี้คือ อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนที่เกิดขึ้นทันทีทันใดในขณะเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ เช่น ระหว่างกำลังล้มตัวลงนอนหรือลุกขึ้นจากที่นอน เงยหน้า หรือก้มหยิบของ เป็นต้น อาการมักจะเกิดเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เป็นแค่ช่วงวินาทีที่ขยับศีรษะ แล้วอาการจะค่อย ๆ หายไป ผู้ป่วยโรคนี้จะไม่มีอาการหูอื้อ ไม่พบการสูญเสียการได้ยินหรือเสียงผิดปกติในหู (ยกเว้นในรายที่เป็นโรคหูอยู่ก่อนแล้ว) รวมถึงไม่มีอาการทางระบบประสาท เช่น แขนขาชาหรืออ่อนแรง ·     โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ หรือโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease)  เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่าอาการของโรคเป็นผลจากความผิดปกติของน้ำที่อยู่ภายในหูชั้นใน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุนอย่างรุนแรง ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียนและสูญเสียสมดุลของร่างกาย ทำให้เซหรือล้มได้ง่าย อาการเวียนศีรษะที่เกิดจากโรคนี้อาจนานเป็นนาทีจนถึงหลายชั่วโมง ซึ่งในระหว่างที่เกิดอาการ ผู้ป่วยควรอยู่นิ่ง ๆ ไม่ขยับศีรษะ เพราะอาจทำให้มีอาการเวียนศีรษะเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจจะมีการได้ยินลดลงและมีเสียงดังในหู บางครั้งอาจพบอาการหูอื้อได้ด้วย วิธีรักษา อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ในบางกรณีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนจะหายไปเองตามกาลเวลา โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาใด ๆ แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายที่มีอาการนี้ซ้ำซากนานหลายเดือนหรือแม้แต่หลายปี เช่น ผู้ป่วยโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease) การรักษาอาการบ้านหมุนอาจทำได้ด้วยการเคลื่อนไหวศีรษะในลักษณะง่าย ๆ ที่เรียกว่า Epley Manoeuvre ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ในการรักษาอาการบ้านหมุนที่เกิดจากโรคหินปูนในหูชั้นใน (BPPV) หรือการใช้ยาโปรคลอเปอราซีน (Prochlorperazine) และยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines) บางตัวที่สามารถช่วยรักษาอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนระยะต้น และใช้รักษาผู้ป่วยส่วนมากได้ รวมถึงการทำ Vestibular rehabilitation training (VRT) ซึ่งเป็นโปรแกรมออกกำลังสำหรับผู้ที่มีปัญหาวิงเวียนและปัญหาเกี่ยวกับสมดุลร่างกาย ซึ่งพบว่าใช้ได้ผลกับผู้ป่วยบ้านหมุนหลายรายด้วยกัน วิธีการ ดูแลตนเอง ท่านสามารถบรรเทาอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนด้วยตนเองได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการบ้านหมุนที่คุณประสบด้วย โดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอาจแนะนำให้คุณทำท่าออกกำลังกายง่าย ๆ เพื่อแก้ไขอาการ ตามขั้นตอนต่อไปนี้ ·     นอนด้วยการหนุนหมอนสองใบขึ้นไป เพื่อยกศีรษะให้สูงขึ้น ·     ค่อย ๆ ลุกขึ้นจากเตียงช้า ๆ และนั่งที่ขอบเตียงประมาณ 1 นาทีก่อนลุกขึ้น ·     เลี่ยงการก้มเก็บของในลักษณะโค้งศีรษะลง ·     เลี่ยงการยืดคอ อาทิ การเอื้อมหยิบของจากชั้นสูง ·     ขยับศีรษะอย่างช้า ๆ และระมัดระวังระหว่างการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ·   ออกกำลังในท่าที่ทำให้คุณมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน เพื่อให้สมองคุ้นชินกับอิริยาบถนั้น ๆ แต่ควรทำเฉพาะในสถานการณ์ที่คุณมั่นใจว่าตนเองจะไม่ล้ม และใช้ตัวช่วยค้ำร่างกายต่าง ๆ ตามความจำเป็น วิธีป้องกัน การเกิดอาการบ้านหมุน ·       หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล การนอนหลังไม่เพียงพอ สารก่อภูมิแพ้ (ถ้าแพ้) เป็นต้น ·       หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม หรือสารคาเฟอีน อาทิ ชา น้ำอัดลม กาแฟ และการสูบบุหรี่ ·       ออกกำลังกายและบริหารประสาทตรงตัวอยู่เสมอ ·       หลีกเลี่ยงเสียงดังหรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู   สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมาย ติดต่อ: โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน โทร. 032-616-800