ออกกำลังกายอย่างไร ให้หัวใจปลอดภัย ร่างกายไม่บาดเจ็บ
การออกกำลังกายเป็นประจำนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายๆ ด้าน โดยสามารถลดโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ลดโอกาสเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต การเกิดโรคเบาหวาน ภาวะความจำเสื่อม และยังสามารถลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจและสาเหตุอื่นๆ ได้อีกด้วย
นพ. ปวินท์ ศิริแสงชัยกุล อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า คำแนะนำในการออกกำลังกายที่มีการศึกษามากที่สุดว่ามีประโยชน์ต่อหัวใจ คือ การออกกำลังกายแบบ แอโรบิค (Aerobic Exercise) หรือ คาร์ดิโอ (Cardio) ซึ่งคือการขยับกล้ามเนื้อมัดใหญ่เป็นจังหวะในรูปแบบเดิมซ้ำๆ ซึ่งอาจจะเป็นการวิ่ง ปั่นจักรยาน เดินเร็ว ว่ายน้ำ เต้นรำ หรือการทำงานบ้าน การทำสวน
เราควรจะออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นประจำ โดยอาจจะออกกำลังกายแบบปานกลาง (Moderate intensity) ให้มากกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ อาจจะแบ่งเป็น วันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ หรือหากจะออกกำลังกายแบบหนัก (High intensity) สำหรับคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำและแข็งแรงดี ควรใช้เวลามากกว่า 75 นาทีต่อสัปดาห์ แบ่งเป็น 5 วันต่อสัปดาห์เช่นเดียวกัน โดยครั้งละ 10 นาทีขึ้นไป
การออกกำลังกาย แบ่งเป็น 4 ระยะด้วยกัน ได้แก่ 1) Warm up 2) Conditioning (แอโรบิคหรือเสริมสร้างกล้ามเนื้อ) 3) Cool down 4) Stretching
การ Warm Up เป็นการค่อยๆ เพิ่ม Workload ให้หัวใจทำให้หัวใจค่อยๆ ทำงานหนักขึ้นโดยทำให้อัตราการเต้นหัวใจเพิ่มขึ้นช้าๆ เพิ่มความต้องการการใช้ออกซิเจนของหัวใจอย่างช้าๆ ซึ่งปลอดภัยกว่าการเริ่มออกกำลังกายทันทีโดยไม่ Warm Up และยังลดความเสี่ยงที่จะมีอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจจะขยาย และทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจมากขึ้น เวลาที่เหมาะสมของการ Warm Up ควรนานประมาณ 15 นาที โดยควรมีการยืดกล้ามเนื้อร่วมด้วย ทั้งนี้ไม่ควรออกกำลังกายขณะท้องว่าง โดยควรทานอาหาร 2-3 ชั่วโมงก่อนออกกำลังกาย หรืออาหารอ่อน ย่อยง่าย 30-60 นาที ก่อนออกกำลังกาย
การ Cool Down นั้นมีเป้าหมายคือ การค่อยๆ ทำให้ร่างกายกลับสู่ภาวะพักหลังออกกำลังกาย ควรใช้เวลาประมาณ 10 นาที การ Cool down จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีอาการหน้ามืด เป็นลม รวมถึงการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดจากการที่ความดันโลหิตต่ำลงกระทันหัน เนื่องจากขณะเราออกกำลังกายอยู่นั้น เลือดส่วนใหญ่จะเข้าไปสะสมในกล้ามเนื้อมัดใหญ่และหลอดเลือดดำ ถ้าเราหยุดทันที จะทำให้เลือดไหลกลับเข้าหัวใจน้อย ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงสมองและหัวใจทำให้ เกิดอาการหน้ามืดและแน่นหน้าอกได้ ดังนั้นจึงควร Cool Down เพื่อค่อยๆ ลดอัตราการเต้นหัวใจ ทำให้หัวใจค่อยๆ ลดใช้ออกซิเจนลง และปรับสภาพหลอดเลือดดำให้หดตัว และเลือดไหลเข้าหัวใจมากขึ้น จนกลับมาอยู่ในภาวะปกติ
ซึ่งการ Warm Up และ Cool Down สามารถป้องกันการบาดเจ็บและ การเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ และการ Stretching ยืดกล้ามเนื้อหลังจาก Cool Down จะช่วยลดโอกาสเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้อีกด้วย
“ทั้งนี้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับอาการสำคัญระหว่างออกกำลังกายที่บ่งชี้ถึงภาวะหัวใจขาดเลือด ได้แก่ อาการเจ็บแน่นหน้าอก อาจจะร้าวไปแขนหรือกรามได้ และมักจะมีเหงื่อออกผิดปกติ บางคนอาจมีอาการเวียนศีรษะ ใจสั่น หน้ามืด หายใจไม่ทัน เหนื่อยมาก หากท่านมีอาการเหล่านี้ ให้หยุดออกกำลังกายทันที หากอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้รีบเรียกคนมาช่วยและไปโรงพยาบาล เพราะท่านอาจเป็นหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และจำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที
ขอให้ทุกท่าน ออกกำลังกายอย่างปลอดภัย เพื่อสุขภาพหัวใจ และร่างกายที่แข็งแรงนะครับ“ นพ. ปวินท์ กล่าวทิ้งท้าย


- ออกกำลังกายแบบปานกลาง (Moderate Intensity) เช่น เดินเร็ว (Brisk Walking) ความเร็วน้อยกว่า 2.5 miles/hr ปั่นจักรยานความเร็ว น้อยกว่า 10 miles/hr ทำสวน เต้นรำ โดยให้อัตราการเต้นหัวใจอยู่ที่ 50 – 70% ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด ซึ่งคำนวณจาก 220 ลบอายุ เช่น อายุ 30 ปี อัตราการเต้นหัวใจสูงสุด เท่ากับ 190 ครั้งต่อนาที เพราะฉะนั้น 50 – 70% เท่ากับ 95 – 133 ครั้งต่อนาที
- ออกกำลังกายแบบหนัก (High Intensity) เช่น วิ่ง ปั่นจักรยานเร็วกว่า 10 miles/hr โดยให้อัตราการเต้นหัวใจอยู่ที่ 70 – 85% ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด หรืออาจจะลองพูดระหว่างออกกำลังกายดู ถ้าหายใจเร็วขึ้นแต่ยังสามารถพูดเป็นประโยค คือออกกำลังกายแบบความหนักปานกลาง หากพูดไม่เป็นประโยคคือออกกำลังกายแบบหนัก


