โรคที่มาพร้อมน้ำท่วม
โรคระบบทางเดินหายใจ
ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัด ปอดบวม อาการสำคัญ ไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร การป้องกัน- ดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ ไม่สวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น เช็ดตัวให้แห้ง หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด
- ปิดปากและจมูกเวลาไอ หรือ จาม
- ล้างมือเป็นประจำ ด้วยน้ำ และสบู่
โรคระบบทางเดินอาหาร
ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ อหิวาตกโรค โรคบิด ไทฟอยด์ และโรคตับอักเสบ อาการสำคัญ ถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือมีมูกเลือด ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร หรือตัวเหลือง ตาเหลือง การป้องกัน- ทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด อาหารกระป๋องที่ยังไม่หมดอายุ กระป๋องไม่บวมหรือเป็นสนิม
- ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำจากขวดที่ฝาปิดสนิท น้ำต้มสุก
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้ง ก่อนกินอาหาร และหลังการใช้ห้องน้ำห้องส้วม
- ห้ามถ่ายอุจจาระลงในน้ำโดยตรง ถ้าส้วมใช้ไม่ได้ ให้ถ่ายลงในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปใส่ในถุงขยะ
โรคฉี่หนู (หรือโรคเลปโตสไปโรซิส)
อาการสำคัญ มีไข้สูงฉับพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณน่องและโคนขาหรือปวดหลัง อาจมีอาการตาแดง มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม สับสน การป้องกัน- หลีกเลี่ยงการลุยน้ำลุยโคลน
- ป้องกันไม่ให้บาดแผลสัมผัสถูกน้ำโดยการสวมร้องเท้าบู๊ทยาง
- รีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่แล้วเช็ดให้แห้งโดยเร็วที่สุดเมื่อต้องลุยน้ำย่ำโคลน
โรคน้ำกัดเท้า
อาการโรคน้ำกัดเท้า เท้าเปื่อยและเป็นหนอง คันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังลอกเป็นขุย มีผื่นผุพอง ผิวหนังอักเสบบวมแดง การป้องกัน- หลีกเลี่ยงการลุยน้ำลุยโคลน
- ป้องกันไม่ให้บาดแผลสัมผัสถูกน้ำโดยการสวมร้องเท้าบู๊ทยาง
- รีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่แล้วเช็ดให้แห้งโดยเร็วที่สุดเมื่อต้องลุยน้ำย่ำโคลน
โรคตาแดง
อาการสำคัญ ตาแดง ระคายเคืองตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตา หนังตาบวม การป้องกัน- ล้างด้วยน้ำสะอาดทันทีถ้ามีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตา
- ไม่ควรขยี้ตาด้วยมือที่สกปรก อย่าให้แมลงตอมตา
- แยกผู้ป่วยตาแดงออกจากคนอื่นๆ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกันเพื่อป้องกันการระบาดของโรค
ไข้เลือดออก
อาการสำคัญ มีไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง จุดเลือดออกตามผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน การป้องกัน- ระวังอย่าให้ยุงกัดในเวลากลางวัน
- นอนในมุ้ง ทายากันยุง
- กำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยปิดฝาภาชนะเก็บน้ำไม่ให้มีน้ำขัง
อุบัติเหตุ และการถูกสัตว์ร้ายมีพิษกัดต่อย
นอกจากโรคต่าง ๆ แล้ว ยังมีอุบัติเหตุที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วม ได้แก่ ไฟดูด จมน้ำ เหยียบของมีคม อันตรายจากสัตว์มีพิษที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วม ได้แก่ งู ตะขาบ แมงป่อง ซึ่งหนีน้ำมาหลบอาศัยในบริเวณบ้านเรือน การป้องกัน- ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้า สับคัทเอาท์ตัดไฟฟ้าในบ้านก่อนที่น้ำจะท่วมถึง
- เก็บกวาดขยะ วัตถุแหลมคม ในบริเวณอาคารบ้านเรือน และตามทางเดินอย่างสม่ำเสมอ