"มะเร็งกระเพาะอาหาร" โรคที่ไม่ควรมองข้าม
มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และมักไม่แสดงอาการโดยเฉพาะ ทำให้คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจผิดว่าเป็นโรคอื่น และมักมาพบแพทย์เมื่อเป็นโรคมะเร็งในระยะลุกลามที่แสดงอาการมากแล้ว มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นปัญหาสำคัญของโลก เนื่องจากพบอุบัติการณ์สูงอยู่ใน 10 อันดับแรกของมะเร็งที่พบทั่วโลกมาตลอด โดยโรคนี้มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีอายุ 40 – 50 ปีขึ้นไป และมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร นพ. สุทธิสิทธิ์ ลิขิตเลอสรวง อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน  กล่าวว่า มะเร็งกระเพาะอาหารเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุและหลายปัจจัย ปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร ได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori หรือ H. Pylori) โดยมีผลการศึกษาพบว่าเมื่อติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร จะทำให้มีอาการอักเสบ เกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหารและโรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง เมื่อสะสมเป็นเวลานาน มีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ อีกตัวการสาเหตุหนึ่งที่เป็นความเสี่ยงของโรคนี้ คือการรับประทานอาหารที่ไหม้เกรียม อาหารปิ้ง ย่าง รมควัน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การทานอาหารรสเค็มจัด อาหารผสมไนเตรต (Nitrate) หรืออาหารที่มีสารไนโตรซามีน (Nitrosamine) ซึ่งพบในของหมักดอง อาหารกระป๋อง อาหารเค็มจัด ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสารที่เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหาร สัญญาณและอาการของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร  ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมักไม่แสดงอาการเฉพาะ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการไม่ชัดเจน เช่น ปวดท้องส่วนบน เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน  จุก เรอ หรือทานอาหารได้น้อยลง ซึ่งอาการของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อาจเป็นอาการเดียวกันกับอาการของผู้ป่วยแผลในกระเพาะอาหารหรือโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ทำให้การวินิจฉัยจากอาการอาจทำได้ค่อนข้างยาก และมักพบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารจะมาเข้ารับการรักษาเมื่อมะเร็งลุกลามแล้ว เนื่องจากไม่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก ๆ เพราะอาการแสดงที่ไม่ชี้เฉพาะ ในรายที่มีอาการในระยะลุกลามผู้ป่วยมักมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาเจียนเป็นเลือด มีปัญหาการกลืน น้ำหนักลดลงโดยไม่มีสาเหตุ อ่อนเพลีย ถ่ายดำ เลือดปนในอุจจาระ เป็นต้น การตรวจโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร  สามารถตรวจได้หลายวิธี เริ่มจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ตรวจหาเชื้อ H.pylori โดยการตรวจเลือด ตรวจหาเชื้อ H.pylori ในกระเพาะอาหารผ่านลมหายใจ (Urea Breath Test)  การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (Gastroscopy) ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์เห็นภายในกระเพาะอาหารทั้งหมด ทำให้เห็นบริเวณที่ผิดปกติและตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง และในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจแนะนำการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง (CT Scan) สำหรับผู้ป่วยในระยะที่ลุกลามแล้ว แพทย์อาจจะแนะนำผู้ป่วยรับการตรวจหาการแพร่กระจาย โดยเอกซเรย์ปอด และสแกนกระดูก ด้วย PET/CT Scan การรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร  ขึ้นอยู่กับระยะ อาการ และความรุนแรงของผู้ป่วย ในมะเร็งระยะแรก แพทย์จะรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดกระเพาะอาหารบางส่วนหรือทั้งหมด และการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลือง จากนั้นจึงรักษาด้วยการให้เคมีบำบัด และอาจใช้การฉายรังสีรักษาร่วมด้วย การป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร  ควรหลีกเลี่ยงเลี่ยงอาหารปิ้ง ย่าง หมัก ดอง เค็มจัด มันจัด รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด ควรเน้นรับประทานผักและผลไม้ ออกกำลังกายเป็นประจำ งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร แพทย์แนะนำควรเข้ารับการตรวจโดยการส่องกล้องและตรวจหาเชื้อ H. Pylori และผู้ที่มีอายุ 40 – 50 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหาร “อย่างไรก็ตามการตรวจพบมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะเริ่มต้นมีโอกาสหายได้ แต่คนส่วนใหญ่มักพบในระยะลุกลาม ดังนั้นการใส่ใจตรวจสุขภาพ ไม่ละเลยความผิดปกติที่มาเยี่ยมเยือนร่างกาย ตลอดจนหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค และรู้เท่าทันโรคมะเร็งกระเพาะอาหารคือสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจ หากท่านที่มีความเสี่ยงหรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์และรับการตรวจคัดกรองโรค เพื่อช่วยป้องกันและได้รับคำแนะนำในการดูแลตัวเองที่เหมาะสมครับ” นพ. สุทธิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย     ************************************************************************** สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมายพบแพทย์ กรุณาติดต่อ :  โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน โทร. 032-616-880  (7.00 – 19.00 น.) แผนกบริการผู้ป่วยนอก/อายุรกรรม ชั้น 1 ข่าวสาร & โปรโมชั่น >> Line ID : @bangkokhuahin