ทำความรู้จักไต เพื่อสุขภาพไตที่ดีกว่า
ไตมีหน่วยกรองเลือดข้างละ 1 ล้านหน่วย (nephron) ทำหน้าที่กรองเลือดประมาณ 180 ลิตรต่อวัน เพื่อขับน้ำ ของเสีย ออกในรูปปัสสาวะ และดูดกลับสารที่จำเป็นและมีประโยชน์เข้าสู่ร่างกาย เป็นการควบคุมสารน้ำและรักษาสมดุลเกลือแร่ในร่างกายให้ปกติ นอกจากนี้ไตยังเป็นแหล่งสร้างฮอร์โมนบางชนิดในการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง (Erythropoietin) ที่ไขกระดูกไม่ให้เกิดโลหิตจาง สร้างฮอร์โมนเรนิน (Renin) ในการรักษาระดับความดันโลหิตให้คงที่ สร้างอนุพันธ์ของวิตามินดี (Calcitriol) ในการควบคุมสมดุลของแคลเซียม ฟอสฟอรัส ที่ไตและทางเดินอาหาร
โรคไตเรื้อรัง เกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่
1. ความผิดปกติแต่กำเนิดของไตและทางเดินปัสสาวะ
2. การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่รุนแรง หรือติดเชื้อซ้ำซ้อนหลาย ๆ ครั้ง
3. โรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคเก๊าท์ นิ่วในไต ภาวะอ้วนอย่างรุนแรง ไตอักเสบ SLE
4. โรคเนื้องอกของไต
5. โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคถุงน้ำของไต ไตอักเสบ
6. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด หรือยาสมุนไพรบางชนิด เช่น ไคร้เครือ ยากษัยเส้น ยาดำสำหรับระบาย อาหารเสริมบางอย่าง เช่น วิตามินซีในปริมาณมาก (> 500 mg/day)
แพทย์หญิงศิริพร หลีหเจริญกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์โรคไต โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า โรคไตเป็นปัญหาที่สำคัญและเป็นภัยเงียบที่เกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ในสภาวะปกติอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายจะเกิดการเสื่อมสภาพตามอายุที่เพิ่มขึ้น ไตก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินี้ได้ การทำงานของไตที่ลดลงมักเกิดขึ้นหลังอายุ 30 ปี ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปี
อย่างไรก็ตามคนทั่วไปสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต เพราะการทำงานของไตที่ลดลงตามธรรมชาตินั้นเป็นไปอย่างช้า ๆ ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายโดยรวม แต่เมื่อมีโรคไตเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ ทำให้การทำงานของไตลดลงด้วยอัตราที่มากกว่าการเปลี่ยนแปลงตามชาติในคนปกติ ภาวะที่ไตลดการทำงานลงอย่างรวดเร็วนั้น เรียกว่า ภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งอาจกลับมาทำงานเป็นปกติได้ ถ้าได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและทันท่วงที แต่ถ้าหากความผิดปกติที่เกิดขึ้นคงอยู่นานต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือน เรียกว่า โรคไตเรื้อรัง และเมื่อผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีการทำงานของไตลดลงอย่างรุนแรง คือ อัตราการกรองของไตน้อยกว่าร้อยละ 15 เรียกว่า เข้าสู่ภาวะไตวายระยะสุดท้าย ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการจากการสะสมของเสียในเลือด มีความผิดปกติของสมดุลน้ำและเกลือแร่ ภาวะพร่องฮอร์โมนบางอย่าง นำไปสู่อาการซึม เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน บวม โลหิตจาง ความดันโลหิตสูง คัน ปวดเมื่อย เป็นตะคริว ผิวแห้งหยาบ สีผิวเข้มขึ้น กระดูกเปราะบาง เป็นต้น ทำให้มีโอกาสต้องเข้ารับการบำบัดรักษาทดแทนไตสูง ระยะเวลาในการดำเนินโรคจนเข้าสู่ภาวะไตวายระยะสุดท้ายมีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน โดยมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น สาเหตุของโรค ช่วงวัยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคไต
การรักษาภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมี 4 วิธี คือ การบำบัดรักษาทดแทนไตด้วยการฟอกด้วยเครื่องไตเทียม การฟอกไตทางหน้าท้อง การผ่าตัดเปลี่ยนไต และการรักษาประคับประคองตามอาการ
ทั้งนี้โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน มีการให้บริการการรักษาบำบัดทดแทนไต ด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งการฟอกเลือด (Hemodialysis) หมายถึงนำเลือดออกจากร่างกายผู้ป่วยผ่านเข้าเครื่องไตเทียม แล้วให้เครื่องทำการรักษาฟอกเลือด ภายใต้การดูแลของแพทย์และพยาบาลไตเทียมอย่างใกล้ชิด โดยการทำงานของเครื่องไตเทียมจะใกล้เคียงกับการทำงานของไตปกติ ในการทำให้สมดุลเกลือแร่ น้ำ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือใกล้เคียงปกติ ขจัดของเสียในเลือดให้ลดลง ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เมื่อเครื่องไตเทียมทำหน้าที่ฟอกเลือดผ่านตัวกรองเสร็จแล้ว จึงนำเลือดดีกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย ในระบบที่ปราศจากการปนเปื้อน โดยทั่วไปกระบวนการฟอกเลือดใช้เวลาครั้งละ 4 – 5 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง ขึ้นกับอาการผู้ป่วย และของเสียในเลือด
ห้องไตเทียมโรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน
จากที่กล่าวมาข้างต้น ท่านคงได้ทราบแล้วว่า โรคไตนั้นเป็นโรคที่อาจซ่อนเร้นในคนทั่วไป ที่ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เลยก็ได้ และมีสาเหตุที่หลากหลาย อีกทั้งโรคไตเรื้อรังจากบางสาเหตุอาจไม่มีอาการแสดงที่รุนแรงใด ๆ ที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตเลย จนกระทั่งการทำงานของไตลดลงอย่างมาก โดยผู้ป่วยเหล่านั้นจะมาพบแพทย์ก็ต่อเมื่อเข้าสู่ภาวะไตวายระยะสุดท้ายไปแล้ว มีผลให้ผู้ป่วยเสียโอกาสที่จะได้รับการรักษาเพื่อชะลอการเสื่อมของไต ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าต้องเข้ารับการบำบัดรักษาทดแทนไตเร็วกว่ากำหนด
ดังนั้นการหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หรือตามความจำเป็น จึงมีความสำคัญ เพื่อช่วยคัดกรองหาบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อโรคไต โดยท่านสามารถขอรับคำปรึกษาจากโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อเข้ารับการตรวจเบื้องต้น 3 อย่าง คือ วัดความดันโลหิตสม่ำเสมอ ตรวจวัดการทำงานของไตในการกรองของเสีย (Serum BUN, Creatinine) และตรวจปัสสาวะ ในกรณีที่ท่านตรวจพบความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง ท่านควรได้รับการประเมินเพิ่มเติม โดยปรึกษาอายุรแพทย์โรคไต เพื่อหาสาเหตุต่อไป
แพทย์หญิงศิริพร หลีหเจริญกุล ยังได้แนะนำว่า การดูแลและป้องกันไม่ให้ไตเสื่อมเป็นสิ่งสำคัญ เราสามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี ดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสม โดยการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม รสหวาน อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง คอเลสเทอรอลสูง อาหารแปรรูป ยาสมุนไพรบางอย่าง อาหารเสริมบางชนิด นอกจากนี้ควรงดการดื่มสุรา งดการสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ควบคุมระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด ความดันโลหิต ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อสุขภาพไตที่ดี
*********************************************************************************
แผนกไตเทียม โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ โทร. 032-616-870