เมื่อลูกเป็นโรคมือ เท้า ปาก พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร
โรคมือเท้าปาก เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โรคนี้มักมีการระบาดช่วงฤดูฝน และมักพบการระบาดในเด็กเล็กชั้นอนุบาลในโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ซึ่งโรคนี้มีตั้งแต่อาการไม่รุนแรง ไปจนถึงรุนแรงมาก บทความนี้จึงขอแนะนำวิธีการรับมือสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เพื่อช่วยให้สังเกตอาการและดูแลลูกน้อยได้อย่างถูกวิธี
พญ. อรสุรีย์ บุญญาวิวัฒน์ กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ผู้อำนวยการแผนกกุมารเวช  โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า โรคมือเทาปากเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Enterovirus ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ และไวรัส Coxsackie ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง แต่ในกรณีที่เกิดจากเชื้อ Enterovirus71 หรือ EV71 จะทำให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ โรคมือเท้าปากติดต่อได้อย่างไร โรคนี้ติดต่อได้โดยเชื้อไวรัสจะแพร่ผ่านทางระบบทางเดินอาหารและการหายใจ ซึ่งสามารถติดต่อได้โดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วย และยังสามารถติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสผ่านของเล่น มือของผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยโรคนี้มีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ จึงทำให้สามารถติดต่อกันได้โดยที่ยังไม่แสดงอาการ อาการของโรคมือเท้าปากเป็นอย่างไร  เมื่อเชื้อโรคนี้เข้าสู่ร่างกายจะใช้ระยะเวลาฟักตัวประมาณ 3 – 7 วัน ผู้ป่วยจึงจะแสดงอาการเริ่มต้น คือ เริ่มมีไข้สูง 38 – 39 องศาเซลเซียสเป็นอาการนำก่อน จากนั้นจึงมีอาการอื่นๆ ตามมาภายใน 1 – 2 วัน ได้แก่ เจ็บคอ น้ำลายไหล กินอาหารได้น้อย อ่อนเพลีย มีแผลที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก มีผื่นเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอบก้นและอวัยวะเพศ อาจมีผื่นตามลำตัว แขน และขาได้ มักมีอาการประมาณ 2 – 3 วันและดีขึ้นจนหายใน 1 สัปดาห์ เด็กที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง โดยทั่วไปสามารถหายป่วยเองได้ แต่ในบางรายที่กินอาหารได้น้อย อาจมีภาวะขาดน้ำ ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ทั้งนี้มีส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง ซึ่งมักเกิดจากเชื้อ EV71 ทำให้มีอาการสมองอักเสบ ร่วมกับระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากพบเด็กมีไข้สูง ซึม อ่อนแรง มือสั่น เดินเซ อาเจียนมาก หายใจหอบ และชัก ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กมาพบแพทย์โดยด่วน โรคมือเท้าปากรักษาได้อย่างไร  โดยทั่วไปแล้วโรคนี้ไม่มียาต้านไวรัสจำเพาะ ซึ่งอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ โดยแพทย์จะดูแลรักษาตามอาการ เช่น การให้รับประทานยาแก้ไข้ ในรายที่เพลียมาก แพทย์อาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด ยารักษาแผลในปาก และให้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่จำเป็น ร่วมกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง การป้องกันโรคมือเท้าปากด้วยการฉีดวัคซีน ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก สายพันธุ์ก่อโรครุนแรง EV71 โดยแนะนำในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี 11 เดือน ฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยฉีดจำนวน 2 เข็ม เว้นระยะห่างจากเข็มแรก 1 เดือน ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าวัคซีนนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมือเท้าปากที่มาจากการติดเชื้อ EV71 ได้ 97.3%  มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคจากเชื้อนี้ที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลได้ 88.0% และมีประสิทธิภาพในการป้องกันความรุนแรงจากเชื้อนี้ได้ 100% หลังฉีดวัคซีนอาจมีอาการปวด บวม แดง คันบริเวณที่ฉีด มีไข้ คลื่นไส้ ถ่ายเหลว ปวดศีรษะ ซึ่งมีโอกาสพบได้น้อย แต่ทั้งนี้วัคซีนชนิดนี้ไม่สามารถใช้เพื่อป้องกันโรคมือเท้าปาก ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อ Enterovirus ชนิดอื่น รวมถึง Coxsackie Virus A16 และอื่นๆ ได้ “นอกจากนี้พ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลสุขอนามัยให้กับเด็กๆ ได้แก่ การสอนวิธีล้างมือที่ถูกต้อง ให้เด็กๆ ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ หมั่นทำความสะอาดของเล่น ดูแลความสะอาดของน้ำดื่มและอาหาร หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ไม่พาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรค หากเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ควรหยุดเรียน และพักรักษาให้หายป่วยเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อยังเด็กคนอื่นๆ และผู้ปกครองต้องรีบแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบ และที่สำคัญต้องหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ควรพาเด็กมาพบแพทย์โดยเร็วค่ะ” พญ. อรสุรีย์ กล่าวทิ้งท้าย ********************************************************************************* สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ :  แผนกกุมารเวช ชั้น 3 โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน โทร. 032-616-883 (8.00 – 19.00 น.) Call Center โทร. 032-616-800