ผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ด้วยเทคนิคแผลเล็ก แม่นยำ ฟื้นตัวไว
โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อย เกิดจากหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพหรือเคลื่อนออกจากตำแหน่งปกติไปกดทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดหลัง ปวดร้าวลงขา หรือมีอาการขาชาและอ่อนแรง หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาอาจทำให้เกิดความพิการถาวรได้ ปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งมีความแม่นยำสูง ทำให้แผลเล็ก และฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเดิม
นพ.ภาณุมาศ ปิยะเวชวิรัตน์ ศัลยแพทย์ระบบประสาทและสมอง ผู้อำนวยการแผนกศัลยกรรมระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทแบบแผลเล็ก หรือ MIS Spine (Minimally Invasive Spine Surgery) เป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope หรือ Endoscopic Discectomy แผลมีขนาดเล็กประมาณ 0.8 เซนติเมตร ผ่านท่อขนาดเล็กเพียงสองแผล (Biportal) โดยมีระบบน้ำหล่อเลี้ยงตลอดเวลา ทำให้ศัลยแพทย์มองเห็นรายละเอียดของเส้นประสาท และพยาธิสภาพที่ต้องการผ่าตัดแก้ไขได้ชัดเจน ช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดรักษาในจุดที่ต้องการได้มีประสิทธิภาพ แม่นยำ และมีการใช้เครื่องมือการผ่าตัดเฉพาะทาง Bipolar / Radiofrequency ช่วยจี้หยุดเลือดขณะที่ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัด ช่วยให้เสียเลือดน้อย ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และคนไข้ฟื้นตัวได้เร็ว ทำให้เวลาที่ต้องนอนโรงพยาบาลน้อยลง
ใครบ้างที่เหมาะกับการผ่าตัดวิธีนี้
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทแบบแผลเล็กผ่านกล้อง Endoscope เหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง ปวดร้าวไปตามแนวเส้นประสาท เช่น ปวดคอร้าวไปไหล่ แขน ขา หรือสะโพก มีการอ่อนกำลังของกล้ามเนื้อ มือ แขน ไหล่ ขา เข่า ข้อเท้า ตลอดจนผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาและทำกายภาพบำบัดแล้วไม่ดีขึ้น และผู้ที่ต้องการฟื้นตัวเร็ว กลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็ว
ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้อง
การผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะทำให้มีแผลขนาดเล็ก ซึ่งลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อรอบ ๆ กระดูกสันหลัง ลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อหรือเสียเลือดมาก เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการผ่าตัดแบบเปิดที่มีแผลใหญ่ อีกทั้งยังลดระยะเวลาพักฟื้น ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น ที่สำคัญคือสามารถลดอาการปวดหลังและปวดร้าวลงขาอย่างมีประสิทธิภาพ
การดูแลหลังการผ่าตัด
แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเริ่มจากการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น นั่งให้ถูกท่า และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือบิดตัวแรง ๆ ในช่วง 4 – 6 สัปดาห์แรก จากนั้นจะแนะนำให้เข้ารับการฝึกกายภาพบำบัดเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง
ในผู้ป่วยที่มีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อเกิดขึ้น พบว่าหลังเข้ารับการผ่าตัดจะฟื้นสภาพได้เร็ว ในทางกลับกันหากผู้ป่วยที่ปล่อยให้เกิดการกดทับของเส้นประสาทนาน มีโอกาสที่จะทำให้กล้ามเนื้อลีบเล็กลง ทำให้หลังผ่าตัดอาจใช้เวลาในการฟื้นตัวนานขึ้น และการทำกายภาพบำบัดเพื่อให้กล้ามเนื้อกลับมาอยู่สภาพเดิมใช้เวลามากขึ้น จึงแนะนำว่าหากท่านมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา
นอกจากนี้ นพ.ภาณุมาศ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้ว่าระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่ กับการผ่าตัดแบบแผลเล็กจะไม่ต่างกันมาก แต่การผ่าตัดแผลเล็กจะมีข้อดีในด้านการเปิดและการปิดบาดแผลที่ใช้เวลาน้อยกว่า ซึ่งต้องใช้ความชำนาญในการใช้อุปกรณ์เครื่องมือพิเศษ การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทผ่านกล้อง Endoscope จึงเป็นทางเลือกที่ทันสมัย ปลอดภัย และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น หากท่านหรือคนในครอบครัว มีอาการปวดหลังเรื้อรังที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อย่าปล่อยไว้นานจนอาจเป็นอันตรายกับร่างกายในระยะยาว ควรมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการวินิจฉัย และเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมครับ”
**************************************************************************
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำนัดหมายพบแพทย์ กรุณาติดต่อ :
โทร. 032-616-880 (7.00 – 19.00 น.) แผนกบริการผู้ป่วยนอก ชั้น 1
โทร. 032-616-800 Call Center โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน



