ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ฟื้นตัวไว เดินได้ก่อนกลับบ้าน
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Total Knee Replacement) เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมที่ทำให้ใช้ชีวิตประจำวันอย่างยากลำบาก การผ่าตัดนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้ตามปกติ แต่ผู้ป่วยหลายท่านเมื่อทราบว่าจะต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม มักจะเกิดความกังวลว่าจะเจ็บปวดมาก หรืออาจจะไม่สามารถกลับมาเดินได้ดังเดิม บทความนี้จะมาแนะนำให้ทุกท่านทราบว่าจริงๆ แล้วการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ที่เคยเจ็บปวดกับโรคนี้ได้อย่างมาก นพ. ธนวรรธน์ ตรีระสหกุลย์ ศัลยแพทย์ผ่าตัดกระดูกและข้อ แพทย์เฉพาะทางสาขาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน กล่าวว่า ผู้ป่วยที่แพทย์แนะนำให้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม มักเป็นผู้ที่มีอาการปวดเข่ามากจนทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เช่น ปวดมากเวลาเดิน ขึ้นลงบันได ลุกหรือนั่ง ปวดเข่าเวลาพักหรือนอน มีการอักเสบบวมแดงของเข่าบ่อยและเรื้อรัง มีการผิดรูปของเข่า เช่น เข่าโค้งออก หรือเกเข้าใน ขยับเข่าติดขัดลำบาก งอ หรือเหยียดเข่าลำบาก รวมถึงผู้ป่วยที่ใช้การรักษาแบบอื่น เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานข้อเข่า การรับประทานยาหรือฉีดยาเข้าในเข่าแล้วไม่ได้ผล การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ผู้ป่วยจะได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนการผ่าตัด ได้แก่ การตรวจร่างกาย การตรวจเอกซเรย์ข้อเข่า โดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง หลังการผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะให้ยาระงับอาการปวดควบคู่กับการประคบเย็นเพื่อบรรเทาการอักเสบ การฟื้นตัวหลังการผ่าตัดข้อเข่าเทียม จะเริ่มทันทีหลังการผ่าตัด โดยผู้ป่วยจะถูกกระตุ้นให้เคลื่อนไหวข้อเข่าเบา ๆ ภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด และฝึกกระดกปลายเท้าขึ้นลงเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด การทำกายภาพบำบัดเป็นสิ่งสำคัญในการฟื้นตัว ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดในการทำท่าออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อลดการอักเสบและเพิ่มการเคลื่อนไหว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ในระยะเวลาไม่นาน โดยหลังการผ่าตัด 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะได้รับการฝึกบริหารกล้ามเนื้อขา งอขา เหยียดขา ในรายที่สามารถฟื้นตัวได้เร็วจะได้ฝึกยืนลงน้ำหนักและหัดเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน จากนั้นนักกายภาพบำบัดจะให้ฝึกเดิน ฝึกการเหยียดเข่า งอเข่าอย่างต่อเนื่อง หากเดินได้ดีจะมีการฝึกใช้ห้องน้ำ ฝึกเดินขึ้นลงบันได ตามลำดับ จากนั้นหากผู้ป่วยสามารถเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยพยุงเดินได้คล่อง และไม่มีอาการแทรกซ้อน แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ การดูแลตัวเองที่บ้าน หลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องดูแลตัวเองอย่างดีที่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งรวมถึงการรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ การทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงการขับรถ และยกของหนักใน 4 – 6 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด และการหลีกเลี่ยงการใช้งานข้อเข่าอย่างหนักในช่วงแรก อาทิ การนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ นั่งบนเก้าอี้เตี้ย หรือเดินขึ้นลงบันไดบ่อยเกินไป กีฬาที่มีการปะทะ กระแทก กระโดดหรือใช้เข่ามากๆ หรือกิจกรรมหนักๆ ที่ต้องงอหัวเข่ามากๆ หรือยืด-หดหัวเข่าอย่างรวดเร็ว “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพและสามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง โดยผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองและการทำกายภาพบำบัดอย่างเคร่งครัด หากผู้ป่วยปฏิบัติตนได้ถูกต้อง การฟื้นตัวก็จะรวดเร็ว และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างมีความสุข และสามารถใช้หัวเข่าเทียมนี้ไปได้อีกยาวนาน โดยอายุการใช้งานของข้อเทียมเฉลี่ยอยู่ที่ 12 – 15 ปี ขึ้นอยู่กับวัสดุข้อเทียมที่เลือกใช้ ตลอดพฤติกรรมและกิจกรรมของแต่ละท่าน ดังนั้นหากท่านที่มีอาการเจ็บเข่าหรือข้อเข่าเสื่อม ควรมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการรักษาในระยะแรกอย่างถูกต้องก็มีโอกาสที่จะชะลอความเสื่อมได้ครับนพ. ธนวรรธน์ กล่าวทิ้งท้าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ :  แผนกกระดูกและข้อ ชั้น 1 โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน โทร. 032-616-832 (8.00 – 17.00 น.) Call Center โทร. 032-616-800